เกาไม่ถูกที่คัน! ชะลอ”เทอร์มินัล2″หวั่นลงทุนแข่งอู่ตะเภา”ทอท.”ทุ่มพันล้านอัพเกรดระบบเช็กอินแก้สุวรรณภูมิล้น

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 25 มิ.ย.2562 ได้ประชุมร่วมกับสภาพัฒน์ฯ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือถึงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ หลัง ทอท.เสนอแผนลงทุนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านเหนือ มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท และขอสร้างอาคารส่วนต่อขยายฝั่งตะวันตก ซึ่งกระทรวงอยู่ระหว่างประเมินข้อมูลเพื่อเสนอให้สภาพัฒน์ฯพิจารณา

“ให้ ทอท.กลับไปทำการบ้านเพิ่มเติม ตามที่สภาพัฒน์ฯมีข้อคิดเห็น เช่น การพัฒนาที่แผนแม่บทที่ ทอท.คิดจะพัฒนาเป็นเฟส ส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันออกและตะวันตก ให้นำข้อมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นฮับใหญ่ของภูมิภาค เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก จะกระทบต่อแผนพัฒนาสุวรรณภูมิแน่นอน”

เนื่องจากในอนาคตสนามบินอู่ตะเภาน่าจะใหญ่กว่าสุวรรณภูมิ และหากทุ่มพัฒนาสุวรรณภูมินอกเหนือแผนแม่บท นอกจากจะแออัด ยังทำให้อู่ตะเภาไม่เกิดด้วย นอกจากนี้ ทอท.ยังมีการขยายสนามบินดอนเมือง และต้องคำนึงถึงแผนแม่บทของ สนข.ที่เป็นแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางอากาศของประเทศเป็นแผนพัฒนาสนามบินแห่งชาติ เช่น ดูการพัฒนาสนามบิน สายการบิน การกำกับควบคุม และการบริหารน่านฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นแผนแม่บท 15 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ

“ทอท.ต้องนำแผนแม่บทของ สนข.มาดูและวางการพัฒนาสนามบินของ ทอท.ด้วย ไม่เช่นนั้น ต่างคนต่างพัฒนา จะวุ่น ซึ่งกระทรวงให้ สนข.ไปดูว่าสนามบินสุวรรณภูมิกับแผนแม่บทที่มีอยู่นั้น ควรจะพัฒนาแค่ไหน และนำข้อคิดเห็นของสภาพัฒน์ฯนำมาประกอบการพิจารณาด้วยถึงสิ่งที่ ทอท.คิดนั้นสอดคล้องหรือไม่ และให้ทำข้อมูลให้ครอบคลุมทุกประเด็นกลับมาเร็วที่สุด ก็เข้าใจ ทอท.ว่าสุวรรณภูมิมีปัญหาผู้โดยสารล้น สายการบินแน่น แต่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกวิธี“ นายชัยวัฒน์กล่าว

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บมจ.ทอท. กล่าวว่า เป็นการหารือร่วมกันถึงแนวทางดำเนินการก่อนที่จะกระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องเสนอให้สภาพัฒน์ฯพิจารณา ทาง ทอท.จะกลับไปดูทำข้อมูลศึกษาความต้องการ ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพและผลกระทบของโครงการ เพื่อตอบคำถามทุกฝ่าย นำเสนอบอร์ด ทอท. และบอร์ดสภาพัฒน์ฯต่อไป

ซึ่ง ทอท.กำลังออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 อยู่ จะนำแบบที่ดำเนินการนี้ไปหารือกับสายการบินและผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงฟังก์ชันการใช้งานให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งขนาดพื้นที่และมูลค่าการลงทุนจะเท่าเดิมประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท และไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติม เพราะเสนออยู่ในภาพรวมกับรันเวย์ 4 อยู่แล้ว

“ระหว่างรอเทอร์มินัล2 จะขอบอร์ดอนุมัติลงทุน 500-1,000 ล้านบาท พัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการบริการ เช่น เคาน์เตอร์เช็กอินด้วยตัวเอง โหลดกระเป๋าเอง การตรวจคนเข้าเมือง แก้ปัญหาคอขวดในระยะสั้นในอาคารผู้โดยสารปัจจุบันไปก่อน ใช้เวลา 6 เดือน“