อวดโฉม “สุวรรณภูมิเฟส 2” ทุ่ม 5 หมื่นล้าน สร้างรับคน 60 ล้าน

งานก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานของโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ซึ่งใช้เงินลงทุน 51,862 ล้านบาท ทั้ง 7 โครงการ จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2563 เมื่อเปิดใช้จะสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

เฉพาะงานไฮไลต์ “อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1” มีค่าก่อสร้างรวม 26,235 ล้านบาท แยกเป็นงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) ที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับเหมางานก่อสร้าง วงเงิน 12,050 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จ 100% กำลังเก็บรายละเอียดเพื่อส่งมอบงานวันที่ 30 ก.ย.นี้ ล่าช้าจากสัญญาเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 เพราะติดปัญหาการก่อสร้างในระหว่างทางจึงทำให้ต้องขยายเวลาการก่อสร้างออกไป

ขณะที่ “อิตาเลียนไทยฯ” ก็ต้องจ่ายค่าปรับบานตะไท วันละ 11 ล้านบาท ถึงขณะนี้พอกพูนไปถึง 4,000 ล้านบาท โดย ทอท.ปรับอิตาเลียนไทยฯ 2 สาเหตุ คือ 1.ปรับที่ทำงานไม่เสร็จตามสัญญา วันละ 11 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 330 ล้านบาท และ 2.ปรับที่ส่งมอบงานก่อสร้างชั้น G ให้ไม่ทันในเดือน เม.ย. แต่ส่งมอบเดือน ส.ค. 2561 ถูกปรับไป 800 ล้านบาท

ทำให้กระทบชิ่งงานสัญญาก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ของกลุ่ม PCS จอยต์เวนเจอร์ (เพาเวอร์ไลน์ฯ-ไชน่าสเตทฯ) วงเงิน 14,235 ล้านบาท ปัจจุบันมีผลงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 50% ต้องขยับจากสัญญาจะต้องเสร็จในเดือน พ.ย. 2562 เป็นวันที่ 18 เม.ย. 2563

หลังจากส่งมอบงานทั้ง “ทอท.-อิตาเลียนไทยฯ” ต้องมาจับเข่าคุยกันถึงวงเงินค่าปรับที่แท้จริง ในเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเห็นต่าง โดย “ทอท.” ย้ำว่าสัญญาเป็นงานเหมาก่อสร้าง ผู้รับจ้างก็ต้องรับความเสี่ยงเอง ขณะที่ “อิตาเลียนไทยฯ” แย้งเรื่องแบบที่มีปัญหา จากความยากของแบบก่อสร้าง เพราะเป็นงานโครงสร้างใต้ดิน รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศและแรงงานที่ขาด

หากคุยกันไม่รู้เรื่อง “อิตาเลียนไทยฯ” คงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพื่อขอค่าก่อสร้างที่ถูกริบคืน ยังต้องลุ้นจะได้คืนกลับมามากหรือน้อย

สำหรับโฉมหน้าอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite) ที่ ทอท.กำลังนับถอยหลังเปิดใช้ภายในเดือน ธ.ค. 2563 โดยอาคารหลังใหม่ประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรอง

เป็นอาคาร 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เริ่มจากชั้น B2 เป็นสถานีรถไฟ APM ชั้น B1 งานระบบต่าง ๆ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า งานระบบ ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้าและอาหาร มีพื้นที่ทั้งหมด 216,000 ตร.ม. ซึ่งในนี้มีพื้นที่รีเทล-ดิวตี้ฟรี ประมาณ 12,000 ตร.ม.

จะมีประตูทางออกเชื่อมต่อกับลานจอดอากาศยาน มีพื้นที่ประมาณ 960,000 ตร.ม. โดยมีหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยาน ขนาด code F เช่น A380 และ B747-8 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยาน ขนาด code E เช่น B747 และ A340 ได้ 20 หลุมจอด


ขณะเดียวกัน จะมีส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ สำหรับขนส่งผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ และเป็นช่องทางสำหรับวางระบบสาธารณูปโภค และเป็นถนนภายในเขตการบินเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ด้วยระบบรถไฟ APM ขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ได้สะดวกรวดเร็ว