กางแผนแก้รถติด กทม. ทะลวง 12 จุดวิกฤต เร่งเชื่อมรถไฟฟ้า-เก็บภาษีเข้าเมือง

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้การจราจรเมืองกรุงปลอดโปร่ง แต่เมื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ปัญหารถติดยังคงหนักอกคนกรุงเทพฯ

หลังเงียบหายไปนานในการประชุม “คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” นัดแรกของปี 2563 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา มี “บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนแม่บทแก้ปัญหาจราจร ตามที่ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เสนอ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังที่ประชุม คจร.เห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรับรองผลและมติการประชุมก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมช่วงต้นเดือน พ.ค. จากนั้นจะนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติต่อไป

แผนแม่บทมีระยะเวลาดำเนินการถึงปี 2572 เป็นปีที่คาดกันว่า รถไฟฟ้าตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในกรุงเทพฯและปริมณฑล ฉบับที่ 1 (M-MAP 1) ทั้ง 10 สายหลักจะทยอยสร้างเสร็จ

โดยมีแนวคิดการแก้ปัญหาจราจรจาก 6 ปัญหาหลัก

ได้แก่ 1.การเชื่อมต่อหรือเปลี่ยนถ่ายการเดินทางกับโครงข่ายอื่น ๆ ด้วยรถไฟฟ้า 2.ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สำคัญจากถนนหลักด้วยการเปิดพื้นที่ปิดล้อม และพัฒนาตามแนวชายขอบถนน

3.การขาดความต่อเนื่องของโครงข่ายถนน 4.ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณคอขวด 5.การบริหารจัดการด้านการจราจร และ 6.การบริหารจัดการความต้องการในการเดินทาง

จากปัญหาทั้ง 6 ข้อ สนข.สรุปกรอบแนวคิดการแก้ปัญหาจราจรเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก การเพิ่มพื้นที่และความสามารถรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น เช่น สร้างอุโมงค์ ถนน ทางยกระดับสะพานข้ามแยก บริเวณคอขวด และ missing link

เป็นการพิจารณาจากสภาพปัญหาจราจรบนโครงข่ายหลักที่เชื่อมต่อเมืองชั้นนอกเข้าสู่พื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยต่ำกว่า 10 กม./ชม. เป็นตัวกำหนดเส้นทางวิกฤต

พบว่ามีแนวเส้นทางวิกฤตจำนวน 12 เส้นทาง เป็นแนวเส้นทางหลักที่ต้องปรับปรุง 9 เส้นทาง ได้แก่ แนววงแหวนรัชดาภิเษก, แนวมอเตอร์เวย์สาย 7 และทางด่วนศรีรัช, แนว ถ.ประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน, แนวทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงอาจณรงค์, แนวทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงพระราม 9-พระราม 2, แนวสะพานตากสิน ช่วง ถ.ราชพฤกษ์-กัลปพฤกษ์, แนวทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี-สะพานปิ่นเกล้า, แนวทางด่วนฉลองรัช-ลำลูกกา

และแนว ถ.ราชพฤกษ์ ช่วงชัยพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ และแนวเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย แนวสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี), สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ลำสาลี) และสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี)

ทั้ง 12 จุดอยู่ระหว่างกำหนดว่า แต่ละแนวเส้นทางจะก่อสร้างอะไร เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาจราจรได้ดีที่สุด คาดว่าจะมีโครงการและมาตรการที่จะดำเนินการ 58 แผนงาน ใช้งบประมาณในการดำเนินงานรวม 271,741 ล้านบาท

จากการบริหารจัดการการใช้ถนนเดิมให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ 4 มาตรการคือ ให้เอกชนเคลื่อนย้ายรถที่จอดขวางผิวจราจร, จัดระเบียบป้ายรถเมล์, บริหารจัดการพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้า และบริหารจัดการจราจรตามทางแยก หรือห้ามจอดขวางในบริเวณทางแยก

และส่วนที่ 2 การส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ มี 5 มาตรการส่งเสริม ใช้งบประมาณ 1,937 ล้านบาท เป็นงบฯศึกษา 280 ล้านบาท งบฯก่อสร้างและดำเนินการ 1,657 ล้านบาท

1.จัดหาพื้นที่จอดแล้วจร (park and ride) แนวขนส่งมวลชน มีแผนเพิ่มพื้นที่จอดแล้วจร 10 โครงการ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคล 3,650 คัน ตั้งงบฯศึกษา 125 ล้านบาท

2.เพิ่มพื้นที่ skywalk นำร่อง 2 จุด และจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในอนาคตเมื่อโครงข่ายรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ตั้งงบฯรวม 108 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯศึกษา 53 ล้านบาท และงบฯก่อสร้าง 98 ล้านบาท

3.เพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า จะศึกษาและก่อสร้างถนนเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีต่าง ๆ 17 เส้นทาง ตั้งงบประมาณรวม 1,571 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯศึกษา 53 ล้านบาท และงบฯก่อสร้าง 1,518 ล้านบาท

4.เพิ่มมาตรการควบคุมส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน มีแผนงาน 3 ด้านคือ เก็บค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่ชั้นใน, นำภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ไปอุดหนุนระบบขนส่งมวลชน และปรับเปลี่ยนอัตราภาษีรถยนต์ ตั้งงบฯศึกษา 55 ล้านบาท

และ 5.เพิ่มมาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกใน 2 ด้านคือ สนับสนุนระบบฟีดเดอร์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสำคัญ และปรับเส้นทางเดินเรือ ตั้งงบประมาณรวม 78 ล้านบาท เป็นงบฯศึกษา 30 ล้านบาท และงบฯก่อสร้าง 48 ล้านบาท