ใกล้เป็นจริง “ยางพาราหุ้มแบริเออร์” ไฟเขียวคมนาคมอัดงบ3ปี8.5หมื่นล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ค.2563 เห็นชอบการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนแล้ว ตามที่กระทรวงเสนอโครงการ

โดยเห็นชอบใน 2 ประเด็นหลักๆคือ 1.ขอให้กระทรวงการคลังแก้ระเบียบการจัดซื้อพัสดุเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง ตามมาตรฐานที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กำหนด

2.ขอปรับแผนดำเนินการของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จากสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 เปลี่ยนเป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ภายในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท แยกเป็น ทล. 1,250 ล้านบาทและทช. 1,250 ล้านบาท

และจะนำวงเงินดังกล่าวผลิตเป็น กำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier :  RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) โดยมีแผนว่าในระยะ 3 ปี (2563-2565) จะต้องมี  RFB จำนวน  12,282.735 กม. และ RGP จำนวน 1,063,651 ต้น

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในหลักการให้ ทล. และ ทช.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 – 2565 กรอบวงเงินรวม 83,170 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 39,175 ล้านบาท ของทล.36,401 ล้านบาท และทช. 2,774 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 43,995 ล้านบาท ของทล. 39,934 ล้านบาทและทช. 4,061 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในภารกิจการทำRFB และ RGP ต่อไป

“ยืนยันว่า ไม่มีการรื้อเสาหลักนำทาง 700,000 ต้นตามที่เป็นข่าว การดำเนินการจะทำในพื้นที่ที่ไม่มีเกาะกลางก่อน”

โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและซื้อผลผลิตตรงกับสหกรณ์เกษตรที่กระทรวงเกษตรฯ จะคัดเลือกมาเข้าร่วมโครงการ และจะมีซอฟต์โลนให้กับสหกรณ์ที่มีความพร้อมที่จะลงทุนด้วย

คาดว่าจะมีปริมาณการใช้น้ำยางพาราในช่วง 3 ปีที่ 1 ล้านตัน แล้วจึงนำน้ำยางมาผลิตเป็นยางแผ่นคาดว่าได้ 300,000 แผ่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมอบหมาย ทช.จดสิทธิบัตรด้วย เพราะเราคิดค้นได้เอง

ส่วนถนนที่จะมีการนำร่องอยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลโดยยึดสถิติการเกิดอุบัติเหตุมาจัดลำดับความสำคัญ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีนี้จนจบโครงการ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดูวิธีการเพิ่มอายุการใช้ของยางที่หุ้ม เนื่องจากอายุของยางพาราที่จะนำมาทำจะมีอายุประมาณ 3 ปี โดยตนอยากให้ยืดอายุของยางออกไปให้อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งก็ได้มอบหมายไปแล้ว

“การทำ RFB และ RGP จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายของงบประมาณ และคาดว่าเม็ดเงินการลงทุนจะลงไปถึงเกษตรกรได้ 71%, มาตรฐานความปลอดภัยจะมากขึ้น อย่างน้อยอุบัติเหตุจากการตัดหน้ารถ 19.1% จะหมดไป และจะช่วยย่นระยะเวลาก่อสร้างได้ จากแบริเออร์แบบเดิม 1 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 เดือน แต่แบบใหม่จะใช้เวลาแค่สัปดาห์เดียวก็แล้วเสร็จ ซึ่งเร็วกว่าประมาณ 8 เท่า”