ส่องความคืบหน้า “สุวรรณภูมิเฟส 2” ปีหน้าได้นั่งรถไฟฟ้า

ส่องความคืบหน้า สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ปีหน้าได้นั่งรถไฟฟ้า-อาคารใหม่พร้อมเปิดปี 2565

ครบรอบ 14 ปี ไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา สำหรับ “สนามบินสุวรรณภูมิ” สนามบินนานาชาติของประเทศไทย มี “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” เป็นผู้ลงทุนและบริหารผ่านมา 14 ปี มีผู้โดยสารใช้บริการแล้วทั้งสิ้นกว่า 685 ล้านคน ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งหมด 17.5 ล้านตัน ปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งหมด 4 ล้านเที่ยวบิน

โควิดฉุดผู้โดยสารวูบ

น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ปีนี้ทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับผลกระทบทำให้จำนวนผู้โดยสาร เที่ยวบิน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

“ในช่วง 11 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 2562-ส.ค. 2563 มีสายการบินประจำให้บริการ 111 สายการบิน มีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น-ลงรวม 201,456 เที่ยวบิน ลดลง 42.18% มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 30.10 ล้านคน ลดลง 49.81% และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 1 ล้านตัน ลดลง 22.68% อย่างไรก็ตาม แม้ในปีที่ 14 จะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด แต่เรายังคงพร้อมให้บริการเคียงข้างผู้โดยสารและผู้ใช้บริการต่อไป ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 15”

ปรับปรุงพัฒนาไม่หยุด

น.ท.สุธีรวัฒน์ย้ำว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการผู้โดยสาร อาทิ นำรถเวียน (shuttle bus) ชุดใหม่มาทดแทนของเดิม 14 คัน เปลี่ยนตู้ KIOS รถแท็กซี่ใหม่ให้ทันสมัย ปรับปรุงลานจอดรถโซน 6 และ 7 ให้มีหลังคาคลุมทุกช่องจอด

รวมถึงซ่อมบำรุงอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบิน อาทิ ระบบลิฟต์ ทางลาดเลื่อน ระบบไฟฟ้า-แสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบท่อสุขภัณฑ์ ห้องสุขา เปลี่ยนพื้นกระเบื้องที่ชำรุดบริเวณต่าง ๆ

ในส่วนของทางวิ่ง ทางขับ ได้ตรวจสอบความแข็งแรงของพื้นผิว และอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในพื้นที่เขตการบินให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งได้มีการซ่อมบำรุง และเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบไฟนำร่องเข้าจอดที่หลุมจอด และระบบไฟฟ้า-แสงสว่างด้วย

อาคารหลังใหม่คืบ 95.23%

ขณะเดียวกัน “ทอท.” ได้ทุ่มเม็ดเงินไปกว่า 51,862 ล้านบาท พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้จาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ขณะนี้งานก่อสร้างรุดหน้าไปมาก

ล่าสุด “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ไล่เรียงความคืบหน้าของแต่ละแผนงาน โดยอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ปัจจุบันคืบหน้า 95.23% งานโครงสร้างอาคารแล้วเสร็จ 100% เหลืองานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานภูมิทัศน์ และติดตั้งระบบประกอบอาคาร

สำหรับรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) คืบหน้า 71.43% ได้รับรถไฟฟ้ามาแล้ว 2 ขบวน จากทั้งหมด 6 ขบวน อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานด้วยระบบไฟฟ้า อีก 4 ขบวนอยู่ระหว่างผลิตจะทยอยส่งมอบในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ เมื่อรับรถครบแล้ว จะเริ่มทดสอบระบบร่วมกันอีกครั้ง ใช้เวลา 4 เดือน คาดว่าพร้อมบริการได้ประมาณเดือน เม.ย. 2564 จากอาคารผู้โดยสารปัจจุบันไปยังอาคาร SAT-1

ส่วนระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าคืบหน้า 75.51% อยู่ระหว่างติดตั้งระบบ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นการทดสอบระบบโดยใช้เวลา 12 เดือน

งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก ขณะนี้กำลังก่อสร้างโครงสร้างชั้นใต้ดินและพื้นชั้น 2, 3, 4 ของอาคารสำนักงาน และพื้นชั้น 6 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และจะมีงานระบบประกอบอาคารของอาคารจอดรถ จะเสร็จสิ้นในเดือน เม.ย. 2564

เปิดบริการ เม.ย.ปี’65

“เมื่อการดำเนินการอาคาร SAT-1 แล้วเสร็จ จะทดสอบเตรียมความพร้อมจะทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่าง ๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2565 ล่าช้าจากเดิม เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อแรงงานที่ลดลง ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อจะร่วมทดสอบได้ อย่างไรก็ตาม การเปิดบริการที่ปรับใหม่ เป็นห้วงเวลาที่สอดคล้องกับที่ ทอท.คาดว่าเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จนกลับมาเป็นปกติในเดือน ต.ค. 2565”

สำหรับอาคารหลังใหม่ที่ “ทอท.” จะเปิดในปี 2565 ประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรอง เป็นอาคาร 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น เริ่มจากชั้น B2 เป็นสถานีรถไฟ APM ชั้น B1 งานระบบต่าง ๆ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า งานระบบ ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้าและอาหาร มีพื้นที่ทั้งหมด 216,000 ตร.ม. ซึ่งในนี้มีพื้นที่รีเทล-ดิวตี้ฟรี ประมาณ 12,000 ตร.ม.

จะมีประตูทางออกเชื่อมต่อกับลานจอดอากาศยาน มีพื้นที่ประมาณ 960,000 ตร.ม. โดยมีหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุมจอด สามารถจอดอากาศยาน ขนาด code F เช่น A380 และ B747-8 ได้ 8 หลุมจอด และอากาศยาน ขนาด code E เช่น B747 และ A340 ได้ 20 หลุมจอด

และมีส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ สำหรับขนส่งผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ และเป็นช่องทางสำหรับวางระบบสาธารณูปโภค และเป็นถนนภายในเขตการบินเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ด้วยระบบรถไฟ APM ขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ได้สะดวกรวดเร็ว