ลุ้นศาลปกครองคุ้มครอง “สายสีส้ม” สัปดาห์หน้า “รฟม.-BTS” สู้สุดตัว

ศาลปกครองไต่ส่วนนัดแรกเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “บางขุนนนท์-มีนบุรี” รฟม.แย้มศาลอาจมีคำสั่งออกมาสัปดาห์หน้า มั่นใจชนะคดีแน่นอน ด้าน BTSC งัดมติครม.สู้ ยันต้องให้อนุมัติก่อนถึงเปลี่ยนเกณฑ์ได้ เดินหน้าสู้เต็มสูบ ไม่ถอย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 9.30 น. วันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางมีกำหนดนัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดีกับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกคือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้อง

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ BTSC ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ศาลไต่สวน 2 ชม.40นาที

โดยฝ่ายของ BTSC นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เดินทางมารับการไต่สวนด้วยตัวเอง ขณะที่ฝ่ายของคณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม. ก็เดินทางมารับการไต่สวนด้วยตัวเองเช่นกัน โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชม. 40 นาที จึงแล้วเสร็จ

รฟม.มั่นใจชนะคดี

โดยนายภคพงศ์กล่าวว่า ได้ส่งคำร้องคัดค้านการคุ้มครองชั่วคราวจากกลุ่ม BTSC แล้วและศาลได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วด้วย โดยได้ชี้แจงไปว่า กลุ่ม BTSC ไม่มีอำนาจฟ้องร้องในคดีนี้ เนื่องจากยังไม่ใช่ผู้เสียหาย
ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมการมาตรา 36 และรฟม.ยังไม่ทำให้เกิดการละเมิดใดๆกับกลุ่ม BTSC ซึ่งการดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตามคาดว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งออกมาภายในสัปดาห์หน้า ดังนั้น ต่อจากนี้จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแล้ว จึงขอไม่กล่าวอะไรที่เป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลอีก และยังไม่ได้เตรียมแผนสำรองกรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองกลุ่ม BTSC แต่อย่างใด เพราะมองว่าศาลไม่น่าจะคุ้มครองให้กลุ่ม BTSC

BTSC สู้ขอคุ้มครองชั่วคราว

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวภายหลังไต่สวนคดีว่า ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ กับศาลปกครองแล้ว และได้ยื่นเอกสารหลักฐานทั้งหมดแด่ศาลแล้ว โดยตอนนี้ขอให้รอผลการพิจารณาคดี ส่วนจะรู้ผลภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่ เป็นอำนาจการพิจารณาของศาล ขอไม่ก้าวล่วง

สำหรับประเด็นที่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองมี 2 ประเด็น 1. ยกเลิกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ที่กำหนดให้ยื่นเกณฑ์ด้านเทคนิค 30% ร่วมการเงิน 70% แล้วเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ราคาเพียงอย่างเดียวตามเดิม

และ 2. ขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวระงับกระบวนการยื่นซองประมูลจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งไม่มีการเรียกค่าเสียหายจากรฟม.แต่อย่างใด

ยันต้องให้ครม.เคาะเปลี่ยนเกณฑ์

โดยยังยืนยันว่า การดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในขั้นตอนที่ผ่านครม.เมื่อเดือนม.ค. 2563 ได้ระบุไว้แล้วว่า ต้องใช้เกณฑ์ราคาในการพิจารณาคัดเลือกโครงการ ซึ่งในรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ รูปแบบการลงทุน และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่รฟม.ทำเองก็ระบุตั้งแต่แรกให้ใช้เกณฑ์ราคาในการตัดสิน

ดังนั้น การปรับหลักเกณฑ์ก็ควรจะต้องเสนอให้ครม.พิจารณาก่อนจึงจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาได้ ทั้งนี้ BTSC ยังพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆของรัฐ แต่คงต้องพิจารณาทีโออาร์ให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น