เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ ผุดศูนย์การค้า “สถานีกลางบางซื่อ” เชื่อมสายสีแดง

บอร์ดรถไฟรับทราบแผนเดินรถสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อ เด้งรับไอเดีย “ศักดิ์สยาม” ผุด “ศูนย์การค้า” ย่านบางซื่อ ดึงผู้เชี่ยวชาญวางแผน 2 เดือน เปิดลงทะเบียนนั่งสายสีแดงรอบปฐมฤกษ์ 26 มี.ค. ห่วงคนเยอะระบบไม่เสถียร เซ็น MOU รฟม.ทุบกำแพงอุโมงค์เชื่อมสีแดงทะลุน้ำเงิน

เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 22 ก.พ. 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. มีมติรับทราบการดำเนินการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ

ในส่วนของการเดินรถสายสีแดง เป็นการรายงานให้บอร์ดรับทราบถึงแผนดำเนินการที่ต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ได่มีการหารือถึงรูปแบบเดินรถอะไร โดยบอร์ดกำชับให้กวดขันด้านความปลอดภัยในการโดยสารเป็นหลัก

สายสีแดงปฐมฤกษ์ เปิดลงทะเบียน

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรอบปฐมฤกษ์วันที่ 26 มี.ค. 2564 นี้ จะไม่ใช่การให้ประชาชนทุกคนใช้บริการ แต่จะใช้วิธีการลงทะเบียนสุ่ม เพื่อให้ได้ประชาชนกลุ่มหนึ่งทดลองก่อน เพราะเป็นการทดลองใช้บริการเสมือนจริง ระบบต่าง ๆ ยังไม่เสถียร ส่วนการลงทะเบียนจะเป็นไปในรูปแบบใด ยังไม่สรุป โดยสายสีแดงจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการในเดือน ก.ค. 2564 นี้

ไม่สรุปโมเดลเปลี่ยนถ่าย”หัวลำโพง-บางซื่อ”

นายนิรุฒ กล่าวต่อไปว่า ด้านประเด็นการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังสถานีกลางบางซื่อ ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะมีอยู่ 2-3 แนวทางที่จะต้องให้คณะทำงานของนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน

สัปดาห์หน้า MOU รฟม.ทำอุโมงค์เชื่อม

ทั้งนี้ ในที่ประชุมบอร์ดก็ได้รับทราบการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อทำทางเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถลงนามใน MOU ได้ เพราะตอนนี้อุโมงค์ทั้งสองฝั่งก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลือแต่การเจาะกำแพง ซึ่งตัวกำแพงถือเป็นทรัพย์สินของ รฟม. โดยเบื้องต้นที่หารือกัน รฟม. จะเป็นผู้ทุบกำแพงดังกล่าวเอง

ดึงผู้เชี่ยวชาญผุดห้างในสถานีกลางบางซื่อ

ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.กำหนดแค่ 5% ให้มีมากกว่านี้ และให้ ร.ฟ.ท.ควบคุมค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นให้บาลานซ์กับการหารายได้ภายในสถานีกลางบางซื่อ

ซึ่งคิดว่าอาจจะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ข้อแนะนำรูปแบบการพัฒนา คาดว่าแนวคิดดังกล่าวจะเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ถึง 20-30% โดยตอนนี้ได้ชื่อผู้เชี่ยวชาญแล้ว แต่ขอไม่เปิดเผย และขั้นตอนต่อไปจะจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาระหว่างการแยกงานพาณิชย์กับโฆษณาออก หรือการเอางานทั้ง 2 มารวมกัน อย่างใดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาเพิ่มอีก 2 เดือน

“แทนที่จะเป็นสถานีรถไฟแล้วมีร้านค้า ท่านรัฐมนตรี (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ก็มีนโยบายว่า แล้วทำไมไม่เอาพื้นที่ตรงนี้ทำเป็นห้าง แล้วมีรถไฟให้โดยสารด้วย? ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการคิดใหม่” นายนิรุฒกล่าว

ส่วนรูปแบบการหาตัวเอกชนเข้าดำเนินโครงการ เบื้องต้นจะไม่ใช้วิธีการร่วมลงทุนแบบ PPP แต่จะใช้วิธีเช่าพื้นที่โดยใช้ระเบียบของ ร.ฟ.ท. กำกับแทน

บริษัทลูกคุมที่ดินยังนิ่ง

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ บจ. เอสอาร์ที แอสเสท (บจ.รถไฟพัฒนาสินทรัพย์) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำข้อบังคับในการจดทะเบียนบริษัท และการหาผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งกรรมการจำนวน 9 ราย คาดว่าใช้เวลาอีก 2 เดือนจะแล้วเสร็จ ซึ่งในด้านหนึ่งก็กำลังเตรียมการในเรื่องของการส่งมอบที่ดินแปลงต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในความดูแลของบริษัท