แข่งกับเวลา-กล้าตัดสินใจ วัคซีนที่รัฐบาลต้องเร่งฉีดให้ประเทศไทย

เศรษฐา ทวีสิน

“ประชาชาติธุรกิจ” จัดบิ๊กอีเวนต์แห่งปี ในหัวข้อ “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” หนึ่งในซีรีส์อีเวนต์สัมมนาภายใต้ธีม Thailand Next Normal เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 โดยมีนักธุรกิจท็อปฟอร์มจากวงการอสังหาริมทรัพย์ “เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) รับเชิญเป็นวิทยากรบนเวที และมีผู้บริหารศิษย์เก่าประชาชาติธุรกิจ “หนุ่มเมืองจันท์-สรกล อดุลยานนท์” เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในบทบาทของนักธุรกิจอสังหาฯที่ได้รับฉายาเป็นเจ้าพ่อทวิตเตอร์ ทำให้มีคำถามท่วมท้นเข้ามาว่า ฤดูการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ จะมีแคนดิเดตชื่อเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ คำตอบชัดเจนก็คือ ไม่แน่นอนครับ แนวคำถามคำตอบนี้สะท้อนตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี นำไปสู่ข้อวิพากษ์และข้อเสนอแนะถึงวัคซีนที่ประเทศไทยต้องการเป็นอย่างมากในนาทีนี้

อยู่กับปัจจุบัน : เอาตัวรอดก่อน

บนความทุกข์ บนปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ผมเชื่อว่าความหวังเป็นเรื่องสำคัญ ความหวังเป็นอะไรที่ทำให้เราอยู่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องมีความหวัง ผมเชื่อว่าในมุมมองมหภาคไม่มีใครปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) หรือคุณปิติ ตัณฑเกษม CEO ธนาคารทีเอ็มบี

ทุกคนพูดมีเหตุผลหมด เป็นอะไรที่เรารู้อยู่แล้วว่าเราควรจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการ, การลงทุน new S-curve หรือสิ่งที่เราอยากให้ประเทศไทยเป็น เพื่อทำให้การแข่งขันของเราสู้กับชาวโลกได้ แต่ผมว่าเราข้ามไปสเต็ปหนึ่งก่อนมากกว่า

ปัจจุบันนี้คือเราต้องอยู่รอดให้ได้ก่อน

แสนสิริเป็นเฟิรสต์มูฟเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกโปรโมชั่น เรื่องสปีดทูมาร์เก็ตในการออกแอ็กชั่นต่าง ๆ ในแง่ของการลดสต๊อก ทำให้เรามีกระแสเงินสดที่สูงมาก สามารถรีเทนคนได้ ถือว่ามีเงินจ้างงาน การลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างแคมเปญแสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน ก็เป็นบทเรียนที่เราได้มาตลอดในช่วงการทำงาน 30 ปีของผม ตอนนี้ผมเชื่อว่าเราแข็งแกร่งมากในแง่ของเรา แต่ going forward ในแง่ของการทำธุรกิจ ยังเป็นอะไรที่ challenging อยู่ เพราะว่าเรื่องการขยายตัวเศรษฐกิจ การเดินไปข้างหน้าของประเทศ เป็นอะไรที่ทางภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพท์ต้องพึ่งอย่างมาก เราไม่สามารถโตสวนกระแสได้ เราโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจของประเทศเรา

วัคซีนการเมืองต้องแก้รัฐธรรมนูญ

กับคำถามถ้าฉีดวัคซีนให้ประเทศได้ 3 เข็ม อยากฉีดอะไรบ้าง …ผมว่า 3 เข็มน้อยไปหน่อย (หัวเราะ)

คำว่าวัคซีนเศรษฐกิจ การที่เราอยู่ในสังคมไม่ใช่มีเรื่องเศรษฐกิจเรื่องเดียว ยังมีเรื่องการเมืองและสังคมด้วย ทุกอย่างควบคู่กันไป ถ้าเศรษฐกิจดี การเมือง สังคมไม่ดี ก็ไปไม่ได้ หรือ 2 อย่างหลังดี แต่อย่างแรกไม่ดี ก็ไปไม่ได้

ผมขออนุญาตพูดแล้วกัน แต่ขอไม่ลงรายละเอียดว่าวัคซีนเข็มแรกที่จะแก้ไขทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นอะไรที่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญ แม้เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้หลังจากที่เราเห็นแสงสว่างเรื่องของวัคซีน แต่เรื่องการเมืองเรามีความไม่แน่นอน

เพราะเป็นเรื่องความไม่พอใจของประชาชนชาวไทยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอะไรที่ชัดเจนว่าต้องมีการแก้ไข ส่วนจะแก้ไขอย่างไร ไปในทิศทางใด ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน ต้องร่วมมือกันคุย ต้องมีการประนีประนอม เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันของทุก ๆ เจเนอเรชั่น การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน การไม่ก้าวร้าว การที่ต้องไปดูถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย เราอยู่มาได้อย่างไร และแก้ไขในวาระที่สมควรจะต้องแก้

เรื่องนี้ผมก็ค่อนข้างมีความหวัง ดูจากทางรัฐบาลนำโดยท่านนายกฯ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ดูว่ามีความตั้งใจจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มไม่แน่ใจ ก็มีความเป็นห่วงจึงอยากจะหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นวัคซีนเข็มแรก

รณรงค์เอกชนนำเข้า-ฉีดวัคซีน

วัคซีนเข็มที่ 2 ผมเชื่อว่าไทยถือว่าเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งในโลก ประเทศที่ต้องพึ่งการท่องเที่ยว การลงทุนอย่างสูง การฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางในเวลาที่รวดเร็วที่สุด เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัจจุบันนี้เราก็มีแผนงาน แต่กว่าจะฉีดครบทุกคนอีกประมาณ 2 ปี ซึ่งช้าเกินไปมาก ถ้าเราจะต้องพึ่งวัคซีนจากรัฐบาลอย่างเดียว ผมว่าเหนื่อย

ผมอยากจะขอรณรงค์ให้เอกชนมีการนำเข้าวัคซีนในชนิดที่ได้รับการอนุมัติจาก อย.แล้ว ถ้ารัฐบาลนำเข้ามาฉีดได้ เอกชนก็ควรที่จะนำมาฉีดได้ เพื่อให้เกิดการฉีดอย่างกว้างขวาง เมื่อกี้ ดร.สมเกียรติ (ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI) ก็ได้บอกแล้วว่า ถ้าจะให้เกิด effective ก็ต้องฉีด 86% ของประชากรทั้งหมด กว่าจะฉีดได้นานเท่าไหร่ ถ้ารัฐไม่พึ่งเอกชน เพราะเอกชนเป็นภาคที่แข็งแกร่งและเร็วมาก

เปิดประเทศ Q4/64…ช้าไปนะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่แปลก มีอะไรที่อธิบายไม่ได้หลายอย่าง แล้วผมเอง ผมอายุขนาดนี้ ผมก็ไม่พยายามหาคำอธิบาย เพราะว่ากลุ้มใจเปล่า ๆ เพียงแต่เชื่อว่าวัคซีนที่เรายังไม่ได้นำเข้ามา เช่น จอห์นสัน, ไฟเซอร์ หรือยี่ห้ออื่น ๆ ถ้า WHO ยอมรับแล้ว เราก็นำมาเข้าขออนุญาต อย. ได้รับการแอปพรูฟจาก อย.แล้ว ก็เอาไปฉีดได้ เป็นอะไรที่คอมมอนเซนส์มาก และเป็นอะไรที่สำคัญมากกับการเดินไปข้างหน้าของธุรกิจไทย

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นจอห์นสันซึ่งฉีดแค่เข็มเดียว แต่ก็เป็นบริษัทที่เราซื้อยาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ของเขาอยู่แล้ว เป็นบริษัทที่อยู่มาเป็น 100 ปี มีความน่าเชื่อถือได้ ผมก็หวังว่ารัฐบาลน่าจะอนุญาตให้เอกชนนำเข้าเพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อที่เราจะได้มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลาย

เรื่องการเปิดประเทศก็เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราจะคอยถึงไตรมาส 4/64 มีหลายภาคส่วนที่อาจจะคอยไม่ไหว เรื่องควอรันทีน วัคซีนพาสปอร์ต ถ้าทั่วโลกเขามีแล้ว เราก็ควรจะ adopt เข้ามา แล้วก็ใช้กันให้เหมือนกับสแตนดาร์ดทั่วโลก เพื่อก่อให้เกิดการเดินทางได้ ก่อให้เกิดการลงทุนได้ ก่อให้เกิดการทำธุรกิจได้อย่างแพร่หลาย เหล่านี้ก็จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง

อุ้มเอสเอ็มอีพยุงฐานราก ศก.ไทย

วัคซีนเข็มที่ 3 คือ เรื่องการเดินไปข้างหน้าของธุรกิจในปัจจุบันที่ประสบปัญหาอยู่ จุดโฟกัสอยู่ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีด้านการท่องเที่ยว หลาย ๆ อย่างยังไม่ได้รับการเยียวยา รัฐบาลมีมาตรการที่กำลังจะคลอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นแอสเสซ แวร์เฮาซิ่ง หรือโกดังพักหนี้ วิธีคิดถูก แต่ในทางปฏิบัติผมเชื่อว่าลำบาก

จากนี้ไปถึงปลายปี 2564 ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่กันได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ ดอกเบี้ย การจ้างงาน ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เกิดหลังจากที่มีโควิดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทฤษฎีสวยหรูทั้งหลายที่เราคุยกันไว้ว่าจะใช้วิธีโน่น ใช้วิธีนี่ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา มันเป็นสปีดทูมาร์เก็ตหรือเปล่า มันเป็นวิธีทำที่ทำทันเวลาหรือเปล่า

ผมมีข้อเสนอถ้าจะช่วยเอสเอ็มอี เขาต้องการ 2 เรื่อง คือ การลดรายจ่ายกับเพิ่มรายรับ เรื่องเพิ่มรายรับเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะว่าไม่มีทัวริสต์เลย ตรงนี้ก็เข้ามาไม่ได้

ถามว่าเพิ่มรายรับจะต้องทำยังไง รัฐบาลก็ต้องเยียวยา เพราะรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเราไม่ได้เป็นประเทศแรกที่ทำ รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินให้ 70% ของเงินเดือน เพื่อที่จะเลี้ยงบริษัทเหล่านั้นไว้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อเศรษฐกิจกลับมา โรงแรมก็จะเปิดได้ หรือการพักชำระหนี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งเหมือนกัน ที่จะทำให้โดยรวมอยู่ได้ อาจจะใช้ communication ของทั้ง 2 อย่าง

แต่ทั้ง 2 วิธีก็มีปัญหาแตกต่างกันไป ถ้ามีการพักชำระหนี้ก็จะทำให้ต่างชาติมองไทยว่า ไม่มีวินัยทางด้านการเงินการคลังหรือเปล่า ทำให้สถาบันการเงินไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเปล่า หรือการเยียวยาก็ต้องมีการพิมพ์เงินหรือกู้เงินอีกหรือเปล่า

จริง ๆ แล้วเป็นปัญหาที่ผมว่าเราทุกคนต้องกล้าทำ ถ้าไม่ทำพวกเราอยู่ไม่ได้ และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาใหม่ ซึ่งผมว่ากลับมาแน่นอน ไม่ว่าจะปลายปีนี้ อย่างช้าต้นปีหรือกลางปี 2565 ถ้ากลับมา หลาย ๆ องค์กร ภาคธุรกิจอาจอยู่ไม่ได้ถึงวันนั้น

ไม่ต้องพูดถึงรายใหญ่เลย อย่างอุตสาหกรรมการบินถ้าเศรษฐกิจกลับมาแล้ว เรายังไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องแคชโฟลว์ของธุรกิจการบิน ใครจะเป็นคนนำทัวริสต์เข้ามา ประชาชาติธุรกิจลงข่าวไปแล้วว่ามี 3,000 กว่าโรงแรมที่มีปัญหา อาจจะต้องปิดไป ก็เหลือแต่โรงแรมใหญ่ ค่าห้องก็ค่อนข้างแพง แล้วนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา เขาจะแอฟฟอร์ดได้หรือเปล่า ตรงนี้เป็นอะไรที่เราอย่ามองข้าม

เรื่องทัวร์ 0 เหรียญที่เราอยากปลี่ยนแปลงให้เป็นไฮเอนด์ทัวริซึ่ม ในแง่ทฤษฎีเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องดีที่เราพยายาม แต่ต้องยอมรับก่อนว่าไทยเป็นทัวริซึ่มที่พึ่งฐานรากเยอะ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 40 ล้านคน เป็นคนจีน คนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับล่างของประเทศไทยเยอะ

นอกจากนี้ เราต้องเปลี่ยนเสน่ห์การท่องเที่ยว-attraction เป็นไฮเอนด์ลักเซอรี่ ผมเห็นด้วย ดีมากที่เราจะทำ แต่ต้องใช้เวลานานขนาดไหน คิดว่าเป็นเฟส 2 มากกว่า ในเฟสแรกโฟกัส attraction ที่นักท่องเที่ยวจีนที่เป็น majority มาก่อนได้ไหม เช่น ดูโชว์ช้าง ลิงเก็บมะพร้าว มวยไทย หรืออะไรก็ตามที่เป็นโชว์พื้นฐาน

แนะรัฐขยายสิทธิการเช่า 99 ปี

ทั้งนี้ สิ่งที่อยากจะให้ทำเร็วที่สุด คือ การพักชำระหนี้กับการฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ต้องอยู่บนความเหมาะสม เพราะถ้าพักชำระหนี้ทั้งหมดก็อาจจะเกิด moral hazard เกิดขึ้น คนที่ไม่เดือดร้อนจริงอาจถือโอกาส อันนี้เห็นใจแบงก์ชาติเหมือนกัน สำหรับการอัดฉีดเงินให้ถูกต้อง อัดฉีดเข้าไปเพื่อที่จะ maintain employment ให้เงินเหล่านั้นกลับไปปั่นเศรษฐกิจได้อีกรอบหนึ่ง

ปีนี้สิ่งที่อยากเห็น ในแง่ของเราอยากเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างไร เปรียบเสมือนเวลาจะเขียน ข.ไข่ คุณต้องเขียน ก.ไก่ ให้ได้ก่อน วันนี้ต้องอยู่ให้รอดก่อน อีกอันหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ แต่ว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯก็ไม่อยากพูดบ่อย เพราะเดี๋ยวมันจะกลายเป็นว่ามาพูดเพื่อจะเชียร์ให้ภาคอุตสาหกรรมของตัวเองมีผลประโยชน์ อยากจะฝากเรื่อง immigration ผมใช้คำนี้ดีกว่า ไม่อยากใช้คำว่า foreign ownership เพราะถ้าบอกว่า foreign ownership จะถูกต่อต้านเยอะ

เรื่อง immigration ผมเชื่อว่ารัฐบาลกำลังมีความคิดอยู่ ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้องว่าจะให้นักลงทุนเข้ามาอยู่ได้ เรื่องวีซ่าที่เข้าประเทศไทยง่าย ไม่ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ ระบบภาษีที่จะทำให้สู้กับประเทศ regional hub อย่างฮ่องกง หรือสิงคโปร์ได้ ทำยังไงให้นักลงทุนทั้งหลายอยากเข้ามาทำงานที่นี่ รวมถึง foreign ownership ของพร็อพเพอร์ตี้ต่าง ๆ ที่ระดับเหมาะสม ไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อันนี้ก็จะเป็นอะไรที่ผมรู้สึกว่าสามารถทำได้รวดเร็ว

ข้อเสนอการถือครองอสังหาฯของคนต่างชาติ ถ้าเป็นลีสโฮลด์-หรือสิทธิการเช่า (ปัจจุบัน 30 ปี) เสนอถึง 99 ปี ก็เป็นเรื่องเดิม ประเทศอื่นเขามีตัวอย่างอยู่แล้ว จะช่วย facilitate ได้พอสมควร

รื้อโควตาซื้อบ้าน-คอนโดฯต่างชาติ

ส่วนเรื่อง foreign ownership ไม่ว่าจะเป็นลีสโฮลด์ หรือฟรีโฮลด์ (ถือกรรมสิทธิ์) ที่ถือครองโดยถาวร ซึ่งในเขตบางเขตอย่างเขตส่งเสริมการลงทุนของ BOI ต่างชาติมาซื้อได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าผมเสนอ ปัจจุบันโควตาต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดฯได้ 49% อยู่แล้ว แต่ถ้าขยับสัดส่วนขึ้นไปได้อีกก็จะดี กรณีบ้านเดี่ยวปัจจุบันถือได้ 0% ถ้าเกิดมีมินิโควตาสัก 30% ผมเชื่อว่าจะช่วย facilitate อะไรได้หลายอย่าง

มันน่าเสียดายเพราะว่าสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศไทยแข็งแกร่ง ดูได้จากการป้องกันโควิด เราเป็นประเทศระดับต้น ๆ ของโลกในการแก้ไขปัญหานี้ ทำให้เราเป็นจุดหรือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวอยากจะย้ายฐานเข้ามาอยู่แบบถาวรหรือกึ่งถาวรในช่วงฤดูหนาวค่อนข้างเยอะ

ถ้าส่งเสริมคนต่างชาติเข้ามาซื้อได้ ไม่ใช่ว่าเขามาซื้อแค่อสังหาฯอย่างเดียว ถ้าซื้อบ้านเขาก็อาจจะอยู่ระยะยาว หน้าหนาวเมืองนอก 4-5 เดือนถ้ามาอยู่ 4-5 เดือน เขาก็มาจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้เหมือนกัน

โควิดจบ แต่วิกฤตยังไม่จบ

เรื่องการแปรวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส ผมอ่านไฟแนนเชียลไทม์บอกว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีการระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ ต่อให้มีวัคซีนแล้วต่อให้มีอะไรแล้วมันก็ไม่ได้หายไปเลย โควิดก็จะอยู่กับเราต่อไป ทำไมผมถึงยกเรื่องนี้มาพูด เพราะยังไงมันก็ยังอยู่กับเราต่อไป

เพราะฉะนั้น การทำอะไรเราต้องคำนึงด้วยว่าไม่มีอะไร 100% การออกแอ็กชั่นใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นลดการกักตัว หรือยกเลิกเมื่อมีการฉีดวัคซีนถึงจุดจุดหนึ่ง หรือจับคู่เป็นบับเบิลทัวริซึ่ม สิ่งเหล่านี้ย่อมมีความเสี่ยง แต่ไหน ๆ มันก็จะไม่หมดไปแล้ว ความเสียหายที่เกิดกับประเทศเราจากการที่เราไม่บาลานซ์ระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ ก็มีความเสียหายได้เยอะ

ไม่ใช่เสียหายด้านการเงินอย่างเดียว ไปดูเรตการฆ่าตัวตายก็สูงขึ้น ใครจะรับผิดชอบ และผมเองก็เห็นใจท่านนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ท่านต้องบาลานซ์ให้ดี มีหลายเคสที่เกิดขึ้น สถานการณ์โควิดคนไม่สามารถอยู่ได้ เพราะเศรษฐกิจถูกปิด ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศต้องกล้าตัดสินใจ ต้องยอมรับความจริงว่าโควิดจะอยู่กับเราต่อไปพอสมควร ถึงแม้ว่าเราจะมีการฉีดวัคซีนแล้ว โควิดก็มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งต้องฉีดวัคซีน 90% ถึงจะมีความปลอดภัย แต่ในแง่ความเป็นจริงแล้วเป็นไปเกือบไม่ได้

เรื่องของการที่เราจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศแล้วมีการควอรันทีน ผมว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วกฎ กติกา มารยาทที่จะสร้างขึ้นมาในอนาคต ถ้าเราจะเปิดประเทศอย่างถาวร โดยที่ประเทศคู่ค้าของเราต้องฉีดวัคซีนแล้ว 75% ของประเทศ อย่างเมืองจีนกว่าจะฉีด 75% ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ผมยกตัวอย่างคนจีน เพราะว่าป็นทัวริซึ่มที่ portion ใหญ่มากของเมืองไทย เราต้องพึ่งเขาอย่างมาก เขาอาจไม่มาซื้อสินค้าไฮเอนด์อย่างเดียว แต่เข้ามากินสตรีตฟู้ด ซื้อของชำร่วย ดูโชว์ช้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานของคนหมู่มากของคนไทย อันนี้เป็นอะไรที่สำคัญมาก

บทเรียนโควิดรับมือสิ่งไม่คาดฝัน

สำหรับบทเรียนจากโควิด อย่างแรกเลยไม่มีใครเตรียมตัวสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น การเตรียมตัวก็คือ เตรียมตัวไว้สำหรับว่าอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกก็ได้ ในสิ่งที่เราไม่คาดฝันมาก่อน

เพราะฉะนั้น เรื่องของการทำอะไรด้วยความรวดเร็วมีส่วน การที่จะต้องยอมเฉือนเนื้อ ยอมลดกำไร หรือยอมขาดทุนบ้างเพื่อความอยู่รอด เป็นอะไรที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราอยู่รอดได้ วันนี้เราเดินไปข้างหน้าได้ คนหมู่มากของเราสามารถเดินไปข้างหน้าได้ เราก็จะสามารถเดินไปถึงจุดที่ท่านรัฐมนตรีคลังพูดว่า เราอยากจะพัฒนาเป็นประเทศที่มี value added product เยอะขึ้นได้

แต่ถ้าเราอยู่รอดไม่ได้ เราก็ไปถึงจุดจุดนั้นไม่ได้