สถานีรถไฟหัวลำโพง 105 ปี จากวันวาน ปัจจุบัน สู่อนาคต

สถานีกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่าหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาถึง 105 ปี นับแต่มีการสร้างและเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งนำความเจริญให้บังเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯและสยามประเทศในสมัยนั้นเหลือคณานับ

ศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมต่อหัวเมืองต่าง ๆ ทำให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้คนสะดวกรวดเร็ว สถานีกรุงเทพ จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายตั้งแต่ ประวัติความเป็นมา อีกทั้งยังมีวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับหัวลำโพงตลอดมา ผ่านยุคสมัย นำมาซึ่งผู้คนที่เริ่มเดินทางเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานมากมายจากทุกทิศทั่วไทย มีส่วนทำให้ชุมชนเมืองของกรุงเทพฯขยายตัวและเจริญยิ่งขึ้น เปรียบเป็นสถานีชุมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯมาอย่างยาวนาน

และเป็นต้นทางในการนำความเจริญออกไปทั่วประเทศไทยในทุกทิศ จากภาคกลาง สู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามเส้นทางรถไฟสายต่าง ๆ ที่สร้างครอบคลุมทั่วประเทศไทย ที่มาจากจุดกำเนิดเดียวกัน คือ สถานีกรุงเทพ

แม้ปัจจุบันเส้นทางถนนและรถยนต์จะเจริญมากขึ้นและแบ่งความเจริญไปบนเส้นทางถนนจำนวนหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ การเดินทางของประชาชนจำนวนมากก็ยังต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถไฟอยู่ตลอดมา ตามบทบาทและตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปจนถึงยุคปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่ยุครถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง อาจทำให้สถานีกรุงเทพไม่เพียงพอที่จะรองรับการเดินทางของประชาชนในอนาคต แต่สถานีกรุงเทพยังคงมีความสำคัญในฐานะประวัติศาสตร์ของการเดินทางอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้จุดกำเนิดของการขนส่งระบบรางต่อไปในอนาคต และยังคงต้องอยู่กับคนไทย ไปอีกตราบนานเท่านาน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมทางรถไฟเพื่อให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำพาสยามสู่ยุคแห่งการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเท่าเทียมนานาอารยประเทศ อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดเดินขบวนรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักรไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 และได้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟสายต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพแห่งแรกที่อยู่บริเวณหลังอาคารกรมรถไฟหลวงไม่สามารถรองรับการให้บริการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ กรมรถไฟหลวง จึงริเริ่มที่จะสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพที่มีความทันสมัย สวยงามเป็นศรีสง่าแก่พระนคร โดยมีคุณค่าในด้านต่าง ๆ กล่าวคือ

คุณค่าทางศิลปกรรม อาคารแสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ ฝีมือช่างที่ประณีตงดงาม และไม่สามารถที่จะสร้างทดแทนหรือหาใหม่ได้

คุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาคารแสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และสามารถเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงปัจจุบันกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

คุณค่าทางสถาปัตยกรรม อาคารแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาและแนวคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบ ลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ และมีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยสนองความต้องการของคนในปัจจุบันได้

การคมนาคมขนส่ง ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากลองมองย้อนกลับไปในอดีตนั้น การคมนาคมหลัก และถือเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญของประเทศไทยนั้น ก็คงหนีไม่พ้นพาหนะอย่าง “รถไฟ”

การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาชาตินั้น ริเริ่มโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการคมนาคมที่สะดวกสบาย ว่ามีส่วนช่วยในการบำรุงกิจการ และสร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง เปลี่ยนความยากลำบากให้กลายเป็นความเข้าถึงใกล้ไกลง่ายต่อการดูแลที่ทั่วถึงและรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้กิจการรถไฟจึงถือกำเนิดขึ้น และเมื่อมีพระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟแล้วนั้น ก็จำเป็นต้องมีการสร้างสถานีต่าง ๆ เพื่อใช้ดูแลควบคุมงาน และใช้เป็นจุดรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งสถานีที่ถือว่ามีความสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางคือ สถานีกรุงเทพ

สถานีกรุงเทพดำรงคงอยู่มาเป็นระยะเวลา 105 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญที่สุดของประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถานีรถไฟแห่งนี้ได้ถูกปรับปรุงและดูแลรักษาเป็นอย่างดี ก่อให้เกิดเรื่องราวและความทรงจำจากครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันมากมาย และจะเป็นสถานีรถไฟคู่ใจของคนไทยตลอดไป