รู้จัก ขนมครก- Bubble and Seal 2 ยุทธวิธีล็อกดาวน์ คุมแพร่เชื้อโควิด

รู้จัก 2 ยุทธวิธีล็อกดาวน์
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

เมื่อการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล 2 ยุทธวิธีที่ถูกวางเป็นปราการสุดท้ายก่อนล็อกดาวน์คือ ยุทธวิธีขนมครกและ Bubble and Seal

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ถึงแนวทางที่เหมาะสมในการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ระบุว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้อำนวยการ ศบค.กทม.และปริมณฑล ซึ่งสามารถสั่งการได้ทันที ในการออกมาตรการเข้มงวดมากขึ้น แต่ไม่ต้องล็อกดาวน์ กทม.

โดยใช้ยุทธวิธี “ขนมครก” และ “Bubble and Seal” เพื่อไม่ให้คนเคลื่อนย้ายและการเดินทางข้ามพื้นที่คลัสเตอร์ หรือ ชุมชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยในพื้นที่ระบาดจะมีการตรวจเชิงรุก และการฉีดวัคซีน รวมถึงหากมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตต้องมีใบรับรอง

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ 2 ยุทธวิธีที่ถูกกล่าวถึง เพื่อให้ผู้อ่านเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตัวตามมาตรการได้อย่างถูกต้อง

ยุทธวิธีขนมครก

คำว่า “ยุทธวิธีขนมครก” เริ่มเป็นที่คุ้นหูขึ้น หลังจังหวัดสมุทรปราการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งวันละหลายร้อยราย มากกว่า 40 คลัสเตอร์ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นชอบใช้ยุทธวิธีชื่อขนมดังกล่าวในพื้นที่สมุทรปราการ หลังประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่เขตบางแคและคลองเตยของกรุงเทพมหานคร

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงขั้นตอนตามยุทธวิธีขนมครก ดังนี้

  1. สุ่มตรวจพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนที่มีการติดเชื้อ
  2. เมื่อพบผู้ติดเชื้อให้นำเข้าสู่การรักษา
  3. ใช้วัคซีนฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น โดยกำหนดจำนวนให้เหมาะสมเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า เมื่อดำเนินการควบคุมโรคแบบขนมครกเป็นจุดเล็ก ๆ ในทุกพื้นที่ และกระจายมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะควบคุมโรคเป็นพื้นที่ใหญ่ได้ โดยจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการควบคุมโรค เนื่องจากการควบคุมโรคจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยมาตรการทางสังคม ความมั่นคง และทางปกครองเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่ด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว

Bubble and Seal

สำหรับยุทธวิธี Bubble and Seal เป็นการควบคุมโรคในโรงงานขนาดใหญ่หรือนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการติดเชื้อแล้ว ทำให้ไม่เสียแรงงาน อีกทั้งยังควบคุมโรคไม่ให้แพร่เชื้อสู่ชุมชนได้

Bubble and Seal ถูกนำมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดตามโรงงานต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยครั้งนั้น นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า Bubble and Seal เป็นการขับเคลื่อนการทำงานด้านการควบคุมโรคในกลุ่มผู้ที่ไม่พบเชื้อ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของสถานประกอบการนั้น ๆ ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ไม่สามารถที่จะหยุดการผลิตได้ เพราะจะส่งผลกระทบโดยรวมระดับประเทศ 

ขณะนั้นจังหวัดสมุทรสาครดำเนินกระบวนการ Bubble and Seal เป็นระยะเวลา 28 วัน ในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาดี และตำบลท่าทราย

สำหรับมาตรการ Seal จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่มีที่พักอาศัยให้กับแรงงานอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน

ส่วนการ Bubble จะใช้กับสถานประกอบการ หรือโรงงาน ที่แรงงานพักอาศัยอยู่ภายนอก เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงาน กับ ที่พักอาศัย จะแวะกลางทางตรงจุดไหนไม่ได้ และเมื่อถึงที่พักแล้วก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหสถานเท่านั้น

พร้อมกันนี้ได้ขอร้องให้ผู้เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ต้องปฏิบัติดังนี้

  1. ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การเดินทางไปสถานที่ทำงานหรือกลับจากสถานที่ทำงาน หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และหรือได้รับอนุญาต จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  2. ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชน ที่มีประชาชนหนาแน่น
  3. ให้ลูกจ้างของสถานประกอบการติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และ “DDC care” เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม
  4. ให้ผู้ประกอบการกำกับดูแลให้แรงงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
  5. ให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลสถานที่ชุมชน ดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
  6. ให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และสถานที่อื่นที่ให้เช่าพักอาศัยดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ควบคุม ตรวจตรา กำชับผู้พักอาศัยให้ดำเนินการตามมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอดส่องบุคคลภายนอกมิให้เข้ามาภายในบริเวณที่พักอาศัย

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จะพิจารณาสั่งปิดสถานที่ หรือสั่งหยุดการประกอบการที่เป็นเหตุแห่งการแพร่ของโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคระบาดได้