ลูกบ้านแอชตันอโศกจ้างทนายสู้คดี แบงก์ปิดประตูรีไฟแนนซ์-เงินกู้ใหม่

แอชตัน อโสก

ลูกบ้านแอชตัน อโศก 1,000 คนช็อก รวมตัวจ้างมือกฎหมายร่วมต่อสู้คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เผยถูกมองเป็นคอนโดฯเถื่อน ล่าสุด 348 ครอบครัว วงเงินสินเชื่อ 3,000 ล้านเดือดร้อนหนัก โดนระงับการทำนิติกรรมทางการเงิน “กสิกรไทย-ธอส.” ปิดประตูรีไฟแนนซ์-ปล่อยกู้รายใหม่

จากกรณีศาลปกครองกลางเผยแพร่คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” พัฒนาโดยบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเย็นวันศุกร์ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นำไปสู่ผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ทางบริษัทอนันดาฯอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขออุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคาดว่าใช้เวลาพิจารณาคดี 3-5 ปี

348 รายใช้สินเชื่อ 3,000 ล้าน

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอนันดาฯในนามผู้บริหารโครงการแอชตัน อโศก ได้มีการประชุมหารือกับเจ้าของร่วม 578 ครอบครัวที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วในการสร้างความเข้าใจและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาจากเหตุการณ์คำสั่งศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโดยมีผลย้อนหลัง

รวมทั้งบริษัทรับทราบถึงความเดือดร้อนของเจ้าของร่วมในด้านสินเชื่อ โดยมี 348 ครอบครัวที่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 9 สถาบันการเงิน มีมูลค่ารวมเกือบ 3,000 ล้านบาท โดยบริษัทได้มีการหารือกับธนาคารเพื่อเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเจ้าของร่วมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

รายละเอียดสถาบันการเงิน 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารยูโอบี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน

ลูกบ้านเรียกร้อง “เยียวยา”

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วันอังคาร 10 สิงหาคม 2564 ทางตัวแทนเจ้าของห้องชุดแอชตัน อโศกระบุว่า ปัจจุบันมีการรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าพักอาศัยแล้ว 2 ปีเศษ จำนวน 600 กว่าห้อง จำนวนกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติ 140 ห้อง มาจากผู้ซื้อ 20 ประเทศทั่วทุกมุมโลก

ทั้งนี้ ก่อนซื้อโครงการได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอว่ามีการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องจำนวน 9 ฉบับ และมีการอนุมัติโดยหน่วยงานรัฐ 8 หน่วยงาน ขั้นตอนการขอใบอนุญาตมีการขอความเห็น 7 หน่วยงาน และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของหน่วยงานรัฐ 5 ชุด จึงมีความมั่นใจและตัดสินใจซื้อห้องชุดในโครงการ

จากผลกระทบคำสั่งศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและมีผลย้อนหลังนั้น ลูกบ้านมีมติว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป นอกจากนี้ ตัวแทนลูกบ้านได้เรียกร้องมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น 2 ข้อ

คือ 1.ลูกบ้านแอชตัน อโศก ขอสอบถามว่าใครจะเยียวยา ใครจะยื่นมือเข้ามาช่วยลูกบ้าน 1,000 คน ทั้งระยะสั้นในเรื่องการรีไฟแนนซ์ ความเชื่อมั่นในการพักอาศัย และระยะยาวในเรื่องคดีความต่าง ๆ

2.ในฐานะประชาชนตาดำ ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน ถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันโดยมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนและทุบทิ้ง ถึงเวลานั้นใครจะรับผิดชอบ หน่วยงานรัฐหรืออนันดาฯ

“บริษัทที่เราทำธุรกรรมซื้อขายด้วยคือ บริษัท อนันดา เอมเอฟ เอเชีย อโศก ถ้าถึงเวลานั้นบริษัทจะอยู่เยียวยาให้เราไหม จะมีการปันผลให้บริษัทแม่ (อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์) แล้วปิดบริษัทหนีไปแล้วใช่ไหม และในระหว่างนี้จะมีการตั้งสำรองหนี้เผื่อให้พวกเราไหม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้มีการตั้งสำรองหนี้เอาไว้ หรือจะเป็นภาครัฐที่จะเข้ามาเยียวยาพวกเรา”

ชี้แบงก์ตีความคอนโดฯถูกระงับ

ตัวแทนลูกบ้านแอชตัน อโศกกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์เศษในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้คดีไม่สิ้นสุดแต่เบื้องต้นมีผลกระทบแล้ว สิ่งที่กำลังเผชิญคือ

1.การรีไฟแนนซ์กับธนาคาร หลายห้องถึงเวลาครบกำหนดยื่นขอรีไฟแนนซ์ สิ่งที่ได้รับคือปฏิเสธในทันทีจากธนาคาร โดยให้เหตุผลว่าคอนโดฯถูกระงับใบอนุญาตก่อสร้าง และไม่มีความมั่นคงเพียงพอ

2.ในเรื่องความมั่นคง สถานการณ์ตอนนี้ห้องชุดแอชตัน อโศกเหมือนถูกแช่แข็ง (freeze) ไปเลย ไม่มีใครอยากทำนิติกรรมด้วย หลายคนมองว่าคอนโดฯ
นี้เป็นคอนโดฯเถื่อน หลายคนซื้อให้บุตรหลานแต่ไม่สามารถโอนห้องชุดได้

3.แอชตัน อโศก มีลูกบ้านชาวต่างชาติ ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศและซื้อแอชตัน อโศกไว้ ตอนนี้รู้สึกเสียใจมาก ๆ ที่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย

แบงก์ปิดประตูรีไฟแนนซ์-กู้ใหม่

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้ารายย่อยในโครงการ “แอชตัน อโศก” จำนวน 15 ห้อง วงเงินไม่ถึง 100 ล้านบาท

ตอนนี้ลูกค้าสินเชื่อยังคงผ่อนชำระตามปกติ ซึ่งต้องรอติดตามสถานการณ์ แต่เชื่อว่าลูกค้าคงผ่อนต่อเนื่อง เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งคงไม่ต้องการเสียประวัติการชำระหนี้

ประเด็นคือปี 2565 ลูกค้าสินเชื่อแอชตัน อโศกจะผ่อนชำระครบ 3 ปีหลังจากเริ่มผ่อนตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งสามารถรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารอื่นเพื่อลดภาระจ่ายดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ผลของคำสั่งศาลปกครองกลางทำให้การรีไฟแนนซ์ลูกค้าโครงการนี้น่าจะค่อนข้างยาก เนื่องจากสถาบันการเงินอาจเข้มงวดการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อใหม่กับห้องที่ยังเหลือขายที่มีอยู่ 10-13% คาดว่าเป็นไปได้ยากเช่นกัน

“เรื่องนี้คงต้องมีการยื่นอุทธรณ์ใช้เวลาอีกนาน 4-5 ปี ในระหว่างนี้มุมมองของแบงก์ก็คือลูกค้ายังต้องผ่อนชำระปกติ เพราะถ้าไม่ผ่อนเงินกู้ก็จะเสียประวัติ หากจะหาคอนโดฯใหม่ก็อาจจะยากในช่วงนี้ ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าลูกค้ายังไม่ได้รับผลกระทบ” แหล่งข่าวกล่าว

ธอส.ตั้งสำรองหนี้ 48 ล้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ปล่อยสินเชื่อโครงการนี้น้อยมาก วงเงินรวม 48 ล้านบาท และลูกค้ายังผ่อนชำระหนี้ตามปกติ อย่างไรก็ดี เมื่อมีคำสั่งศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโดยมีผลย้อนหลังนั้น ธอส.ได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ทั้งหมด 48 ล้านบาท

“ตอนนี้ความมั่นใจของลูกค้าขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการ ไม่ได้อยู่ที่ธนาคาร” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ธนาคารจะหยุดให้สินเชื่อใหม่สำหรับโครงการแอชตัน อโศก เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนถึงผลกระทบก่อน โดยเชื่อว่าช่วงนี้ไม่มีลูกค้าใหม่เข้ามาขอสินเชื่อเพิ่มเติม

สอดคล้องกับ นายณัฐพล ลือพร้อมชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารยังไม่สามารถบอกได้ถึงผลกระทบในส่วนของลูกค้ารายย่อยแอชตัน อโศก

เนื่องจากขั้นตอนทางกฎหมายน่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ โดยในท้ายที่สุดผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครองโดยธรรมชาติ ปัจจุบันลูกค้าสามารถอาศัยได้ตามปกติ เพราะไม่ได้มีความผิดปกติในด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด