SSC-Smart Sustainable Community ชุมชนอัจฉริยะใต้ร่มเงาการเคหะฯ

โปรเจ็กต์ที่อยู่อาศัยอัจฉริยะที่สร้างแบรนด์ให้กับการเคหะแห่งชาติโดยแท้

อัพเดตล่าสุดโดย “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ระบุชื่อเต็มว่า โครงการ SSC-Smart and Sustainable Community for Better Well-being หรือ SSC ชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ภารกิจตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติคือ เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน โดยได้พัฒนาโครงการ SSC มาตั้งแต่ปี 2563 ในการสร้างตัวชี้วัดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 มิติประกอบด้วย

1.“การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ” โดย กคช.ได้สร้างความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน และการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ จุดเน้นอยู่ที่การมีส่วนร่วมในมิติของความยั่งยืนคือ ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกมิติร่วมกัน

2.“ความมั่นคงของระบบนิเวศ” รับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูแลเกี่ยวกับสภาพอากาศ น้ำสะอาด การอนุรักษ์น้ำ ที่ดิน พลังงาน การจัดการขยะอย่างถูกต้องและเกิดมูลค่า และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการลดมลพิษ

3.“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” รับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดูแลเรื่องฐานเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย ทำให้มีรายได้เพียงพอ การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ และการให้ความรู้เพื่อสร้างอาชีพตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

4.“สุขภาวะทางสังคม” รับผิดชอบโดยกลุ่ม BDMS เครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ ดูแลคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยให้กับประชาชน

มีโครงการนำร่องที่ “บ้านเอื้ออาทรบางโฉลง” นำ Core Business Enablers 8 ด้านมาพัฒนาร่วมกัน โดยมี SSC เป็นสื่อกลาง และจะขยายผลในปี 2565

วางเป้าหมายภายใน 5 ปีหน้าจะพยายามกระจายไปทุกชุมชนให้ได้มากที่สุด ยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ น้ำเสีย การจัดการการใช้พลังงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

“หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เราคงต้องเผชิญสภาวะเศรษฐกิจที่สาหัสพอสมควรในปี 2565 รายได้ของภาครัฐก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในปีถัดไปประสบปัญหา การสร้างงาน การเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

และการเคหะฯจะไม่ละทิ้งเรื่องนี้ จะอยู่เคียงข้างกับชุมชน เพราะชุมชนรอดการเคหะฯก็รอด