เมกะโปรเจ็กต์ล้อยางหมื่นล้าน “EV Bus อีอีซี” รับไฮสปีด 3 สนามบิน

รายงาน
กีรติ เอมมาโนชญ์

การลงทุนภาครัฐคือลมหายใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคโควิด

อัพเดตล่าสุด “คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก” ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 เห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan : EPMP) เรียบร้อยแล้ว

ลงทุนหมื่นล้านวิ่งพร้อมไฮสปีด

เรื่องเดียวกันนี้ แหล่งข่าวจาก “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” หน่วยงานเสนาธิการของกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พลันที่มีมติ คจร.ดังกล่าว มีผลเท่ากับเริ่มต้นนับ 1 โครงการ โดยภารกิจ สนข.ในฐานะทำคลอดผลศึกษาโครงการถือว่าสำเร็จลุล่วง

หน้าที่ต่อจากนี้มีการส่งไม้ต่อให้ “สกพอ.-สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” นำไปขยายผลสู่ภาคปฏิบัติ

เริ่มต้นจากการเสนอผลการศึกษานี้เข้าสู่ที่ประชุม “บอร์ด EEC-คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

หากบอร์ด EEC พิจารณาให้ความเห็นชอบก็จะมีการเสนอบรรจุเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC project list) ต่อไป

โดย “สกพอ.” รับบทบาทเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่า สกพอ.จะเป็นแกนหลักในการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัดประกอบด้วย “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง”

เพื่อสำรวจเส้นทางตามผลการศึกษารูปแบบการลงทุนโครงการ การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการขออนุญาตเส้นทางเดินรถสาธารณะตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

ขนส่งหลักรถไฟฟ้า-ทางคู่-รถตู้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามผลการศึกษาของ สนข.แบ่งรูปแบบระบบขนส่งในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็น 2 รูปแบบคือ ระบบขนส่งสายหลัก กับระบบขนส่งสายรอง

“ระบบขนส่งสายหลัก” ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการในปี 2568

2.โครงการถไฟทางคู่ 2 สายทาง ได้แก่ ชุมทางฉะเชิงเทรา-บ้านพลูตาหลวง-บ้านฉาง ให้บริการ 6 เที่ยว/วัน กับ “พานทอง-ชลบุรี-ชุมทางศรีราชา-พัทยา” ให้บริการ 10 เที่ยว/วัน

และ 3.รถตู้โดยสารหมวด 2 (วิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-3 จังหวัด) มีจำนวน 29 สาย ให้บริการ 2,600 เที่ยว/วัน คิดเป็นจำนวนคนใช้บริการวันละ 27,600 คน/วัน และหมวด 3 (วิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-จังหวัดอื่น ๆ) จำนวน 16 สาย ให้บริการ 1,900 เที่ยว/วัน คิดเป็นจำนวนคนให้บริการวันละ 25,700 คน/วัน

เสริมโครงข่ายรอง 3 จังหวัดอีอีซี

ไฮไลต์มติ คจร.วันที่ 20 กันยายน 2564 อยู่ที่ “ระบบขนส่งสายรอง” โดย สนข.มีข้อเสนอให้เพิ่มเส้นทางการขนส่งภายใน 3 จังหวัดรวม 18 สายทาง ระยะทาง 555 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 14,410 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

โดยรูปแบบโครงการในส่วนของงานโยธามอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) บูรณาการเรื่องการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ขณะที่การเดินรถมอบให้ “สกพอ.+อปท.” ร่วมดำเนินการหาตัวเอกชนมาเดินรถ กำหนดรูปแบบลงทุนเป็นแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)

แบ่งเป็น “ฉะเชิงเทรา” 5 สายทาง ระยะทางรวม 80 กิโลเมตร “ชลบุรี” 7 สายทาง ระยะทางรวม 178 กิโลเมตร และ “ระยอง” 6 สายทาง ระยะทางรวม 297 กิโลเมตร โดยรูปแบบที่วางไว้จะเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด (EV Bus)

แปดริ้วรับส่งวัดโสธรฯ-บ้านโพธิ์

รายละเอียด “จังหวัดฉะเชิงเทรา” ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 “สายสีแดง-ฉช.1” ช่วงสถานีไฮสปีดฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมรังสฤษฎิ์-ห้างตะวันออกคอมเพล็กซ์ ระยะทาง 8 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 “สายสีน้ำเงิน-ฉช.2” ช่วงสถานีไฮสปีดฉะเชิงเทรา-วัดโสธรวฯ 7 กิโลเมตร, เส้นทางที่ 3 “สายสีเขียว-ฉช.3” วิ่งรอบเมืองฉะเชิงเทรา, เส้นทางที่ 4“สายสีเหลือง-ฉช.4”

ช่วงสถานีไฮสปีดฉะเชิงเทรา-บางคล้า 28 กิโลเมตร, เส้นทางที่ 5 “สายสีชมพู-ฉช.5” ช่วงสถานีไฮสปีดสูงฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์-บางปะกง 26 กิโลเมตร

โดยระบบทั้งหมดจะมีจุดเชื่อมต่อหลัก 3 จุด ได้แก่ “สถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา-อ.บางคล้า-อ.บางปะกง”

ชลบุรีเชื่อมศรีราชา-พัทยา

ถัดมา “จังหวัดชลบุรี” ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 “สายสีเขียว-ชบ.1” ช่วงสถานีไฮสปีดชลบุรี-เมืองชลบุรี ระยะทาง 12 กิโลเมตร, เส้นทางที่ 2 “สายสีน้ำเงิน-ชบ.2” สถานีไฮสปีดชลบุรี-หาดบางแสน 16 กิโลเมตร และสถานีไฮสปีดชลบุรี-หนองมน 13 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 3 “สายสีชมพู-ชบ.3” ช่วงสถานีไฮสปีดชลบุรี-บ้านบึง-เขตนวัตกรรมภาคตะวันออก วังจันทร์วัลเลย์ (EECi) 65 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 4 “สายสีฟ้า-ชบ.3” ช่วงสถานีไฮสปีดศรีราชา-แหลมฉบัง 16 กิโลเมตร และช่วงสถานีไฮสปีดศรีราชา-เขตนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ศรีราชา 13 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 5 “สายสีแดง-ชบ.5” ช่วงเมืองศรีราชา-สถานีไฮสปีดศรีราชา-ปลวกแดง 42 กิโลเมตร, เส้นทางที่ 6 “สายสีเหลือง-ชบ.6”

ช่วงสถานีไฮสปีดพัทยา-แหลมบาลีฮาย 8.13 กิโลเมตร (เมืองพัทยากำลังศึกษาอยู่) และเส้นทางที่ 7 “สายสีน้ำตาล-ชบ.7” ช่วงสถานีไฮสปีดพัทยา-สวนนงนุช 19 กิโลเมตร

โดยระบบทั้งหมดจะมีจุดเชื่อมต่อ 9 จุด ได้แก่ สถานีรถไฟความเร็วสูง 3 จุดที่ “ชลบุรี-ศรีราชา-พัทยา” นอกจากนี้ จุดเชื่อมอยู่ที่นิคมอมตะซิตี้-บางแสน-EECi วังจันทร์วัลเลย์-แหลมฉบัง-อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และสวนนงนุช พัทยา

ระยองวิ่งวนนิคมอุตฯ-อู่ตะเภา

สุดท้ายระบบขนส่งสาธารณะ “จังหวัดระยอง” 6 สาย ระยะทาง 297 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 3,190 ล้านบาท ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 “สายสีแดง-รย.1” ช่วงนิคมอุตฯมาบตาพุด-ไออาร์พีซี (IRPC) 22 กิโลเมตร,

เส้นทางที่ 2 “สายสีน้ำเงิน-รย.2” แหลมเจริญ-สามแยกขนส่ง 14 กิโลเมตร, เส้นทางที่ 3 “สายสีเขียว-รย.3” ช่วงสถานีไฮสปีดสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง-บ้านเพ 62 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 4 “สายสีเหลือง-รย.4” ช่วงระยอง-บ้านค่าย-EECi วังจันทร์วัลเลย์ 58 กิโลเมตร, เส้นทางที่ 5 “สายสีชมพู-รย.5” ช่วงนิคมอุตฯ มาบตาพุด-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง 45 กิโลเมตร และเส้นทางที่ 6 “สายสีฟ้า-รย.6” สถานีไฮสปีดสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง-EECi วังจันทร์วัลเลย์ 96 กิโลเมตร

ผลศึกษาระบุให้ระบบจังหวัดระยองมีจุดเชื่อมต่อ 7 จุด ได้แก่ สถานีรถไฟความเร็วสูงสนามบินอู่ตะเภา-สนามบินอู่ตะเภา-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-เขตประกอบอุตสาหกรรม IRPC-บ้านเพ-ปลวกแดง และ EECi วังจันทร์วัลเลย์

คาดการณ์การใช้งบประมาณ 14,410 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 383 ล้านบาท, ค่างานโยธา 3,504 ล้านบาท, ค่างานระบบ 1,455 ล้านบาท

และค่าจัดซื้อรถโดยสาร 1,531 ล้านบาท ค่าดำเนินงาน 4,316 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษา 3,221 ล้านบาท มี EIRR ที่ 18.5%


โดย EV bus จะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ล้อยางเสริมโครงข่ายการเดินทางใน EEC วางไทม์ไลน์เปิดบริการพร้อมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ภายในปี 2568