ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข สูตรธุรกิจมือเปื้อนดิน ปั้น CIVIL เติบโตแข็งแกร่ง

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข
สัมภาษณ์พิเศษ

ในวัย 44 ปีที่สามารถบริหารกิจการพลิกฟื้นจากธุรกิจติดลบจนกลายเป็นองค์กรรับเหมาก่อสร้างดาวรุ่งในปี 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เสี่ยชาย-ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังจากผลักดันองค์กรเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมา มียอดกำไรเติบโต 122% ยอดรายได้ทะลุ 5,000 ล้านบาท และมีแบ็กล็อกทะยานไกลที่ 15,000 ล้านบาท

เป้าหมายมีไว้พุ่งชนของซีวิลฯ สร้างการเติบโตเมื่อ 3 ปีที่แล้วเฉลี่ย 20% บริษัทต้องการรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจ 20% ต่อเนื่องในอนาคตอย่างน้อย 4-5 ปีหน้า โดยมีสูตรลับธุรกิจที่ผู้นำสูงสุดขององค์กรจะต้องพูดด้วยการปฏิบัติ ความสำเร็จที่ไม่มีทางลัดแต่เกิดจากโมเดลของการเป็น “CEO มือเปื้อนดิน”

ปีเสือเป้ารายได้ 6,000 ล้าน

อัพเดตผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทเซ็นสัญญารับงานใหม่ 9 โครงการ มูลค่ารวม 228 ล้านบาท อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงชนบทเพื่อการท่องเที่ยว บ้านหาดสำราญ-ตะเสะ ตอนที่ 2, งานก่อสร้างทางหลวง 347 บางปะหัน-เจ้าปลุก ตอน 2, งานก่อสร้างทางหลวง 4034 ปากน้ำกระบี่-เขาทอง ตอนที่ 1 เป็นต้น สามารถรับรู้รายได้ทั้งหมดในปี 2565

นอกจากนี้ CIVIL ประกาศความพร้อมเข้าประมูลและรับงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ไฮไลต์อยู่ที่รอผลการประมูลเมกะโปรเจ็กต์ คาดว่ามีความชัดเจนขึ้นในไตรมาส 2/65 ซึ่งงานดังกล่าวจะเติมเต็มให้แบ็กล็อกทำสถิตินิวไฮนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

สำหรับผลประกอบการปี 2564 มีรายได้รวม 5,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 933 ล้านบาทจากปี 2563 ที่มีรายได้ 4,130 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% มีกำไรสุทธิ 193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 87 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 122%

และปี 2565 วางเป้าเติบโต 20% อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเป้าธุรกิจแบบคอนเซอร์เวทีฟเมื่อมองในมุมขีดความสามารถในการรับงานเพิ่มเติมของบริษัท

“มองกลับไปรู้สึกเราโชคดี ได้เจอความลำบากในช่วงต้น ทำให้รู้ว่าจะต้องแก้ยังไง เรามีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เริ่มจากการมีลูกน้องส่งเอกสารลอกหน้างาน ส่งพัสดุใส่กล่อง แล้วกลับมาลอกเอกสารที่กรุงเทพฯต่อเพื่อคิดค่าแรง ใช้เวลา 3-4 เดือนกว่าจะปิดเสร็จ ผมเริ่มมาสอน excel เริ่มนำระบบมาใช้ จนทุกวันนี้ผมใช้ระบบ SAP ตอนนี้เรารู้หมดแล้ว ตั้งแต่ซื้อของไปจนออกงบดุล มันลิงก์กันหมด ป้าคนเดิมที่เป็นคนแกะกล่องลอกเอกสาร ทุกวันนี้รันงานบน SAP”

มองหาการลงทุน S-curve

“ปิยะดิษฐ์” เข้ามารับช่วงงานต่อจากรุ่นคุณพ่อ (ชัยวัล อัศวศิริสุข) เมื่อ 15 ปีที่แล้วในปี 2540 แต่ยุคที่เหนื่อยสุด ๆ คือมหาอุทกภัยในปี 2554 และมีจุดพลิกฟื้นหลังจากรับงานเมกะโปรเจ็กต์มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ช่วงไซต์ก่อสร้างลำตะคอง ทำสถิติสร้างเสร็จเร็วกว่าสัญญา 8 เดือน หลังจากนั้น ไม่มีงานไหนที่ยากเกินกำลังของ CIVIL อีกต่อไปแล้ว

“ผมโชคดี มีครอบครัวดี มีทีมงานดี มีเพื่อนดี อีกอันหนึ่งคือเราศึกษาและรู้จักตัวเอง”

เมื่อให้วิเคราะห์องค์กรมีโมเดลการโตเหมือนใครในวงการรับเหมา คำตอบคือโตแบบลูกผสมหยิบมาอย่างละนิดละหน่อยจากยักษ์ธุรกิจทั้งมีของตัวเองเยอะ ๆ อย่างบริษัท อิตาเลียนไทยฯ, การไดเวอร์ซิฟายลงทุนอย่างบริษัท ช.การช่าง และมีความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างบริษัท ซิโน-ไทยฯ

จุดเน้นเป็นพิเศษคือ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” บอส ช.การช่าง “…ท่านเป็นผู้นำที่ดีเหลือเกิน เป็นคนที่คุยด้วยทุกครั้งก็ให้โอกาส เป็นผู้ใหญ่ในวงการที่ผมให้ความเคารพ”

และ “การเติบโตของ CIVIL คิดว่าเป็นลูกผสม ธุรกิจในยุคใหม่ ๆ มือต้องเปื้อนดิน ขณะเดียวกันตาต้องมองไกล ต้องมองไปข้างหน้าด้วย การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากต้นทุนการทำงานที่ถูกลงแล้ว ยังสามารถมีโอกาสให้พันธมิตรที่ก้าวเข้ามา แล้วเราอยากจะสร้าง S-curve ใหม่ ๆ 1+1 จะได้มากกว่า 2 ได้ยังไง”

บทบาทลีดเดอร์ชิปวางน้ำหนักสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว โดยเมนหลักรายได้ยังมาจากธุรกิจก่อสร้าง 95% อีก 5% เป็นความท้าทายที่จะต้องเติมเต็มธุรกิจ new S-curve ทั้งโรงงานผลิตและวัสดุก่อสร้าง

“เมื่อ 10 ปีก่อนใครจะคิดว่า CIVIL จะมาทำรถไฟฟ้า เป็นเรื่องไกลตัว ทุกวันนี้เราทำอาคารและสถานี และเราก็ทำได้ดี”

5 พันธกิจจาก C-I-V-I-L

บทเรียนธุรกิจที่ตกผลึกออกมาเป็นแบรนด์ CIVIL มีคำอธิบายเป็น 5 เรื่อง ประกอบด้วย C-I-V-I-L

เริ่มจาก C-commitment สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราตั้งใจ คือสิ่งที่เราจะทำให้สำเร็จ

ถัดมา I-integrity หลักศีลธรรมจรรยา ความถูกต้อง จุดยืน หรือจรรยาบรรณ

V-value people เราให้ความสำคัญกับคน พนักงานเรา ครอบครัวของเขา พื้นที่ที่เราไป คนที่เราร่วมงานด้วย

I-innovation ทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ต้องทันสมัยถึงขนาดไปถึงโลกพระจันทร์ แต่ทำในสิ่งที่ทำอยู่ให้ดี แล้วพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่ง และเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้

และ L-life long learning เราเชื่อว่าการที่เราเรียนรู้ตลอดชีวิต เราเรียนรู้ เราเอาของที่ดี เราเอาองค์ความรู้จริง ๆ มาใช้

“สิ่งที่พ่อผมสอน รู้อะไรต้องรู้จริง ความลำบากตอนนั้นเรายึดมั่นเหลือเกินว่า 5 เรื่อง C-I-V-I-L นี้สำคัญ แต่ถ้าให้เลือกเพียง 1-2 เรื่อง C กับ I สิ่งที่เราพูดสิ่งที่เราตั้งใจคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ก็คือสัจจะที่เรามี โดยเฉพาะธุรกิจผม การสร้าง trust การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจคือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ”

Small but Beautiful

เมื่อถามถึงสไตล์การเป็นลีดเดอร์ชิปที่ใช้ในการบริหาร CIVIL คีย์ซักเซสที่ใช้ได้ผลมาแล้วก็คือโมเดลบริหารที่ไม่ได้นั่งสั่งการจากบนหอคอย

“พูดด้วยการปฏิบัติ ผมทำแบบมือเปื้อนดิน ทุกวันนี้เสาร์-อาทิตย์ก็ไปเยี่ยมลูกน้อง คิดว่าเรื่องนั้นสำคัญ และผมกล้าตัดสินใจ มีวิชั่นที่ดี ผมเป็นคนไม่ฉลาด มีคนบอกว่าต้องขยันกว่าคนอื่น เราก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองโง่นะ แต่เราคิดว่าเรายังต้องฉลาดได้อีก เพราะฉะนั้น ความที่น้ำไม่เต็มแก้วเราถามเสมอ กับลูกน้องผมก็ถาม ผมก็ไม่ได้อายนะ เทคนิคบางเรื่องคืออะไร จะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง พอเราเริ่มถามเขาจะรู้สึกว่าองค์ความรู้มันสำคัญ และการถาม การพูดคุยทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ดี”

ในฐานะที่เคยบวชเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญา 5 เดือนเต็ม มีคำพระสอนที่ว่า งานได้ผล คนเป็นสุข “…ผมบอกลูกน้องว่าปี 2565 นี้ขอ 2 เรื่อง 1.professionalism ผมอยากให้ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ เราจะไม่เหลาะแหละ เราทำจริงจัง และรู้จริงในสิ่งที่ทำ 2.ผมขอให้มีคำว่าสมดุลในทุกทาง ทั้งตัวเอง สุขภาพ ชีวิต ครอบครัว การเติบโต และทำให้งานเสร็จ ต้องไปด้วยกัน”

คำถามสุดท้ายอยากเห็นภาพจำแบรนด์ CIVIL เป็นอย่างไร

“small but beautiful เป็นบริษัทขนาดกลางที่สวยงาม เติบโต แล้วก็รับผิดชอบ คำว่ารับผิดชอบทั้งต่อผู้ลงทุน สิ่งแวดล้อม การเติบโต และสังคม”