กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานใหญ่ “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย พร้อมผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์ไหมไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ 4 วัน รวมกว่า 30 ล้านบาท
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า “การจัดงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 19 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์หม่อนไหม ภูมิปัญญาผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยคุณภาพ และผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงสนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ช่วยกันสืบสานภูมิปัญญาต่อไป โดยในปีนี้ตลอดการจัดงาน 4 วัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 30,193,551 บาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม จำนวน 24,560,811 บาท ตลอดจน ยอดการสั่งจองผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม จำนวน 5,632,740 บาท”
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้เข้าชมงานให้ความสนใจ อาทิ นิทรรศการ “เส้นทางอาชีพหม่อนไหม” ซึ่งเป็นการจัดแสดงเส้นทางอาชีพด้านหม่อนไหมที่สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรม Workshop การพิมพ์ลายกระเป๋าจากสีธรรมชาติ และการทำเครื่องประดับจากเศษผ้าไหม ที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมกิจกรรม การแสดงฝีมือการทอผ้าจากน้อง ๆ ทายาทหม่อนไหม นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการผลงานการบูรณาการที่กรมหม่อนไหมได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ นวัตกรรมการผลิตผ้าไหมเส้นไหมด้วยกราฟีน การนำไหมมาพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์ ช่วยผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม สำหรับเป็น “วิศวกรรมโครงร่างเต้านม” และการจัดแสดงผลงาน “จากนักโทษ สู่นักทอ” เป็นต้น
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวปิดท้ายว่า “กรมหม่อนไหมให้ความสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม พร้อมทั้ง ส่งเสริมให้ความรู้และยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์หม่อนไหมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของตลาด รวมทั้ง เพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าหม่อนไหมได้มากขึ้น ผ่านการจัดงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ซึ่งนอกจากช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าและช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยให้คงอยู่สืบไป”