อะไรคือ โรคกระดูกพรุน ?

กระดูกพรุน
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : ผศ.นพ.กุลพัชร จุลสำลี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ 
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับโรคกระดูกพรุนกันก่อนว่าคืออะไรกันแน่ ถ้าให้นิยามโรคนี้คือ ภาวะมีมวลกระดูกที่ลดน้อยลง เพราะมีการสลายกระดูกเร็วกว่าการสร้างกระดูก ปกติกระดูกของเราไม่ใช่ว่าสร้างมาแล้วก็สร้างมาเลย เพราะมันจะสลายแล้วสร้างทดแทนขึ้นเหมือนกัน

เพียงแต่พอแก่ตัวหรือคนที่เป็นโรค อัตราการสลายกระดูกจะมากขึ้น จนสร้างกระดูกกลับมาไม่ทัน เป็นผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง เพราะ 80% ของผู้ป่วยจะเกิดจากการสลายตัวของกระดูกที่สูงขึ้นอีก 20% ที่เหลือเกิดจากการสร้างกระดูกลดลง

แล้วอันตรายอย่างไร ? โรคนี้ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักลดลง ทำให้แตกและหักได้ง่าย ตําแหน่งที่พบกระดูกหักบ่อย ๆ คือ กระดูกปลายแขน ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง หากหักก็มีโอกาสเป็นผู้ป่วยติดเตียงและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จนเป็นสาเหตุไปสู่การเสียชีวิตได้

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคกระดูกพรุน

ส่วนใหญ่มารู้ตัวตอนกระดูกหักแล้ว ถึงอย่างนั้นบางคนก็มีอาการแสดงให้เห็น เช่น กระดูกสันหลังหัก เลยทําให้หลังโก่ง ตัวเตี้ยลง ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือมีญาติใกล้ชิดและคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนควรไปปรึกษาแพทย์

วิธีการตรวจมวลกระดูกนั้น ทำได้โดยใช้เครื่องตรวจมวลกระดูกที่มีในโรงพยาบาล เครื่องจะใช้รังสีปริมาณเล็กน้อยเพื่อสแกนจุดสำคัญในร่างกาย 2 จุดคือ บริเวณกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก เพื่อดูว่า มวลกระดูกเป็นอย่างไร ถ้ามีภาวะกระดูกพรุนแล้วกระดูกตรงนี้หักขึ้นมาก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก

วิธีรักษาหรือป้องกัน

ร่างกายจะเริ่มสะสมมวลกระดูกจนอายุราว 30-35 ปี จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง หากจะป้องกันต้องกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงตั้งแต่เด็ก ๆ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่วนการรักษานั้น มีทั้งการใช้ยา โดยแบ่งยาเป็น 2 กลุ่มคือ ยาที่ยับยั้งเซลล์สลายกระดูกให้ทำงานช้าลง และยากระตุ้นเซลล์สร้างกระดูกให้ทำงานเร็วขึ้น ซึ่งยาจะช่วยไม่ให้โรคพัฒนา แบบชนิดรับประทานคือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือเดือนละ 1 ครั้ง


ปัญหาที่พบคือผู้ป่วยลืมรับประทานยา ทำให้ผลการใช้ยาไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การใช้ยารับประทานจำเป็นต้องมีวินัยมาก แต่มีทางเลือกคือใช้ยาชนิดฉีด ชนิดปีละ 1 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน ยากลุ่มนี้ต้องฉีดที่โรงพยาบาลตามบัตรนัด จะช่วยป้องกันการลืมรับประทานยาได้ ซึ่งยาชนิดฉีดมีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่ข้อเสียคือ มีราคาสูงกว่ายารับประทาน