กาแฟ ช่วยขับถ่ายจริงหรือไม่ ?

กาแฟ
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามา
ผู้เขียน : อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร จากสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ 
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่โดดเด่นในเรื่องรสชาติ เป็นที่ถูกใจของใครหลายคน กาแฟมีประโยชน์มากมายทั้งช่วยกระตุ้นการตื่นตัว ลดอัตราการเสี่ยงโรคหัวใจ และชะลอการเสื่อมโทรมไม่ให้แก่ก่อนวัย

แล้วจริงหรือไม่ ? ที่กาแฟมีส่วนช่วยในเรื่องขับถ่าย

จริง เพราะศึกษาแล้วว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟแล้วมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง หากดื่มกาแฟจะทำให้มีการขยับตัวของลำไส้จึงมีโอกาสจะขับถ่ายง่ายกว่าคนที่ดื่มเพียงน้ำเปล่า เมื่อเทียบกับการดื่มชาจะทำให้ท้องผูกได้มากกว่า

การดื่มกาแฟ ทำให้เกิดโรคได้หรือไม่ ?

ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน จึงยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ในแง่การป้องกันมีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดแล้วในหลาย ๆ โรค คือช่วยลดอัตราการเสียชีวิตให้น้อยลงเมื่อเทียบกับการที่ไม่ดื่ม ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคระบบสมอง ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์

กาแฟส่งผลต่อค่าตับหรือไม่ ?

การดื่มกาแฟดำช่วยปกป้องตับได้ จากข้อมูลพบว่า ค่าเอนไซม์ตับที่ขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ส่วนผู้ที่มีโรคตับอยู่แล้วไม่ว่าจะสาเหตุใด เช่น โรคอ้วนและมีไขมันพอกตับ ซึ่งมีโอกาสเกิดพังผืด กาแฟเป็นการชะลอการเกิดพังผืดในตับได้ ส่วนกลุ่มที่เป็นไวรัสตับอักเสบ ปัจจุบันมีข้อมูลชัดว่า ผู้เป็นไวรัสตับอักเสบซี การดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม 3-5 แก้วต่อวัน ช่วยให้อาการดีขึ้นได้

ผู้ป่วยโรคอะไรบ้าง ที่ควรเลี่ยงการดื่มกาแฟ ?

กาแฟมีประโยชน์หลายอย่าง ถ้าเราใช้ให้ถูกต้อง แต่มีผู้ป่วยบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีปัญหาเรื่องโรคกระเพาะอาหารหรือกรดไหลย้อน คุณสมบัติของกาแฟไม่ได้ทำให้กรดไหลย้อนหรือโรคกระเพาะอาหารแย่ลง แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความไวต่อสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้น หรืออาหารบางชนิด กาแฟก็เป็นหนึ่งในนั้น ฉะนั้นผู้ที่ดื่มกาแฟแล้วปวดท้อง เกิดอาการแสบร้อนกลางอกมาก ๆ กลุ่มนี้ต้องเลี่ยงการดื่มกาแฟ

อีกกลุ่มคือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หากดื่มในขนาดที่เหมาะสมจะป้องกันได้ แต่คุณสมบัติของกาแฟทำให้มีการเต้นของหัวใจที่เร็วและแรงขึ้น หรือหากดื่มมากเกินไปก็ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จริง ๆ ไม่ได้ให้งดกาแฟ แต่ต้องดื่มในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เนื่องจากกาแฟสามารถส่งผ่านรกไปสู่ลูกได้ ส่งผลต่อเด็กในครรภ์ จึงแนะนำว่า หากตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มกาแฟเกิน 200 มิลลิกรัมของคาเฟอีนต่อวัน หรือไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน เมื่อเราคำนวณจากกาแฟดำ

การดื่มกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟดำในปริมาณที่มีคาเฟอีนเหมาะสม ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรค ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจ พาร์กินสัน ความจำเสื่อม ที่ต้องระวังคือ สิ่งที่แฝงมากับกาแฟที่ไม่ใช่กาแฟดำ โดยเฉพาะน้ำตาลเทียม ไซรัป วิปครีม