นอนกรน-หยุดหายใจ ส่งผลต่อหัวใจและสมอง

นอนหลับ
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : แพทย์หญิงนวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ในหนึ่งวัน เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการนอน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกวัย ทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน อาจต้องหันมาดูชั่วโมงการนอนว่าเพียงพอหรือไม่

วัยทำงานควรนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมง หากยังไม่สดชื่น ต้องดูว่ามีปัญหาอื่นใด เช่น การกินยาที่ทำให้ง่วง โรคทางการนอนหลับ เช่น ลมหลับ หรือการนอนกรน

กรนเป็นสัญญาณเตือนของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เสียงเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบหรือหย่อนผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นเพราะความอ้วน โคนลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น เมื่อลมหายใจผ่านขณะหลับจึงทำให้เกิดการชนกันของอวัยวะจนเกิดเสียง หากเป็นมากอาจทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ และกระตุ้นให้เกิดการหายใจเฮือกขึ้นมาขณะหลับ

กลางดึกขณะหลับบางคนต้องตื่นมาหายใจ อาจเป็นสาเหตุเกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ เช่น ทำให้ง่วง หลับใน จนเกิดอุบัติเหตุ การนอนหลับจึงสำคัญเพราะส่งผลทั้งตอนนอน ตอนตื่น และโรคร้ายแรงอื่น ๆ

เบื้องต้นควรฝึกนิสัยการนอนหลับที่ดีก่อน จากการหาสาเหตุของการนอนไม่หลับ จากนั้นฝึกการ ตื่น หลับ ให้เป็นเวลา ที่สำคัญเตียงนอนควรใช้เฉพาะนอนหรือมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น หลายคนชอบนอนเล่นโทรศัพท์ ดูทีวี บนเตียง ซึ่งทำให้ชิน เวลาจะนอนจริงอาจนอนไม่หลับ และควรหลีกเลี่ยงกาเฟอีนในช่วงบ่าย

วิธีรักษาการกรนมีหลายอย่าง ขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุ แพทย์อาจประเมินจากประวัติ ตรวจร่างกาย ส่องกล้อง ตรวจการนอนหลับ การรักษา เช่น ใส่เครื่องอัดอากาศขณะหายใจ การผ่าตัด การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก เป็นต้น หรือหากอ้วนควรลดน้ำหนัก นอนตะแคงอาจช่วยได้ในบางราย เลี่ยงยานอนหลับ แอลกอฮอล์ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาทส่วนกลางช่วงก่อนนอน

ADVERTISMENT

สุดท้าย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมวันนอนหลับโลกขึ้นในวันที่ 9 มี.ค. 66 เวลา 08.30-12.00 น. ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 1 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์