โรคใหลตาย ภัยอันตรายที่ไม่รู้ตัว

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามา
ผู้เขียน : รศ.พญ.สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคใหลตาย การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันโดยไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า พบมากในภาคอีสาน ทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” สาเหตุมาจากพันธุกรรม อาการจะมีไข้สูง, ขาดโพแทสเซียม ซึ่งเป็นเกลือแร่ที่ได้จากผักผลไม้, ใช้สารเสพติด, ใช้ยาบางตัวที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า, สารสกัดจากกัญชา

สาเหตุ เกิดจากพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวหรือญาติที่สืบสายเลือดเดียวกันเสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์สะสมเป็นเวลานาน เกิดจากร่างกายขาดแร่โพแทสเซียม ที่ได้จากผัก ผลไม้ แร่โพแทสเซียมจะเข้าไปปรับสมดุลน้ำในร่างกาย ทำให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ

วิธีการป้องกัน หากครอบครัวหรือญาติมีประวัติเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สืบหาความผิดปกติที่อาจเสี่ยงเป็นโรคใหลตายได้

เมื่อตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่า มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคใหลตาย ควรเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ และยาบางชนิดที่ส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาโคเคน เป็นต้น

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงจากโรคใหลตาย อาจต้องมีการใส่เครื่องกระตุกหัวใจเพื่อเฝ้าระวังจังหวะการเต้นของหัวใจอยู่ตลอดเวลา

วิธีช่วยเหลือ หากพบผู้ป่วย หรืออยู่ในสถานการณ์อยู่กับผู้ป่วยภาวะใหลตาย เบื้องต้นระหว่างรอรถพยาบาล ให้จับผู้ป่วยนอนราบ สังเกตอาการหากพบว่า ไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาที โดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว

สิ่งที่ไม่ควรทำคือ งัดปากคนไข้ด้วยของแข็ง เพราะอันตราย คนที่เป็นโรคใหลตายอาจมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่เป็นเหตุให้หมดสติ

โรคใหลตายในปัจจุบันกลายเป็นภัยเงียบที่พร้อมคร่าชีวิตผู้คน โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า วิธีรักษายังคงเป็นไปตามระดับความรุนแรง ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป