โรคมาลาเรีย หรือไข้ป่า โรคที่คนชอบเที่ยวป่าควรระวัง

สุขภาพดีกับรามาฯ
ผศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล

โรคมาลาเรีย หรือไข้ป่า เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อปรสิตชื่อ Plasmodium ในประเทศไทยพบได้มากทางชายแดนด้านตะวันตก ชายแดนด้านตะวันออก และภาคใต้

โรคมาลาเรียมีพาหะคือ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) โดยเฉพาะยุงตัวเมียเท่านั้นที่นำโรค ยุงก้นปล่องออกหากินตอนกลางคืน ชอบอยู่ในป่า เขา โรคมาลาเรียจึงมักเกิดจากการที่ไปเดินเที่ยวในป่าตอนกลางคืนแล้วโดนยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียคือ Plasmodium ซึ่งมีทั้งหมด 5 ชนิด ชนิดที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ Plasmodium falciparum ส่วนใหญ่ในประเทศไทยพบเป็น Plasmodium vivax ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน เชื้อ Plasmodium เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะไปฟักตัวที่ตับ หลังจากนั้นเชื้อจะถูกปล่อยออกมา แล้วเชื้อจะเข้าไปในเม็ดเลือดแดง เมื่อเชื้อโตในเม็ดเลือดแดงเต็มที่ก็จะแตกออก แล้วไปติดเชื้อในเม็ดเลือดแดงตัวอื่นต่อไปเป็นวงจร

อาการแสดงของโรคเกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตก โดยทั่วไปอาการจะเริ่มจากหนาวสั่น ตัวเย็น จากนั้น 1-2 ชั่วโมงจะมีไข้ขึ้นสูง ตัวร้อนจัด แล้วอีก 1-4 ชั่วโมงต่อมาจะมีเหงื่อออกมากแล้วไข้ลง หากไม่ได้รับการรักษา อาการก็จะกลับไปเริ่มใหม่เป็นวงจรไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการซีดลง และปัสสาวะสีเข้มขึ้นร่วมด้วย ในผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจเป็นจากมีการติดเชื้อในสมองร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง หรือชัก ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะไตวาย น้ำท่วมปอด เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น

การวินิจฉัยทำโดยการเจาะเลือดตรวจว่ามีเชื้อ Plasmodium หรือไม่ โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ ปัจจุบันมีวิธีตรวจที่รวดเร็วขึ้นด้วยการหยดเลือดลงบน strip แล้วดูว่ามีแถบขึ้นหรือไม่

การรักษาโดยใช้ยาต้านมาลาเรีย หากมีอาการมาก แพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล และให้ยาฉีด ถ้าอาการไม่มากสามารถรักษาด้วยยารับประทานได้ ซึ่งการรักษาด้วยยานี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

การป้องกันที่สำคัญคือ ไม่ให้ถูกยุงกัด หากต้องนอนในป่า ควรนอนในมุ้ง ปัจจุบันยังไม่มีการใช้วัคซีนในการป้องกันโรคนี้

ผู้ที่เดินทางกลับจากป่า ควรสังเกตอาการของตนเอง หากมีไข้สูง หนาวสั่น ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งแพทย์ว่าได้เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย

————————–

หมายเหตุ : ผศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล