2 เมษายน คล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
พระราชประวัติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 68 พรรษา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า “นางแก้ว” อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพารเรียกทั่วไปว่า “ทูลกระหม่อมน้อย”
พระราชประวัติด้านการศึกษา
พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อ ปี 2501 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน ปี 2515 ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ
จากนั้น ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่ง ปี 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98
ในปีเดียวกันพระองค์ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา 2522
หลังจากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี – สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2524 ต่อมาด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา 2529
นอกเหนือจากการศึกษาในระบบแล้ว พระองค์ยังสนพระทัยศึกษาเพิ่มเติม ทั้งการดูงาน ประชุมสัมมนา และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ ในวิชาการอีกหลายด้าน อาทิ ภูมิศาสตร์กายภาพ อุทกศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทรงงานเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
พระปรีชาสามารถ
นอกจากพระราชกรณียกิจหลากสาขา พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ ทรงประพันธ์และแปลหนังสือมากมาย รวมทั้งหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยทรงใช้พระนามแฝงหลายชื่อ อาทิ แว่นแก้ว ที่ทรงใช้เมื่อ ปี 2521 ในหนังสือพระราชนิพนธ์สำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
โดยในปี 2548 นับเป็นปีมหามงคลที่ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรน้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการอ่าน และทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์สำหรับเด็กและเยาวชนมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์
ทรงเข้ารับราชการ
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว ในพุทธศักราช 2532 ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ต่อมาในพุทธศักราช 2530 ได้มีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่
โดยพระองค์ทรงพระยศ พันเอก ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมาได้มีการขยายตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองในพุทธศักราช 2532 พร้อมกับกองอื่นๆ) ทรงเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์พระองค์แรกจนถึงปัจจุบัน มีพระราชภารกิจ ทั้งการบริหาร การสอน และงานวิชาการอื่น ๆ
ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเอก ในพุทธศักราช 2539 และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ (อัตราจอมพล) ในพุทธศักราช 2543 นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการ ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
การสถาปนาพระอิสริยยศ
สยามบรมราชกุมารี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้นให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2520 นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
พระราชกิจ-ความสนพระทัย
กรมสมเด็จพระเทพฯ ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมีงานอดิเรกที่สนพระทัยหลายประเภท เช่น ทรงงานดนตรี งานศิลป์ และการทัศนศึกษา รวมทั้งการอ่านและสะสมหนังสือทรงมีหอสมุดส่วนพระองค์ที่จัดเก็บหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก
โดยมีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดี เป็นต้น รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน
ปัจจุบัน พระองค์ยังสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่าง ๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งพระปรีชาสามารถด้านภาษาเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า
นอกจากนี้ ยังสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ