สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย การรวมพลดีไซเนอร์ไทยครั้งสำคัญ ระดมไอเดียธุรกิจ พลิกเกมธุรกิจแฟชั่นไทย ปลุกอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย (Federation of Thai Fashion Designers – FTFD) โดยมีเป้าหมายให้สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน พร้อมพัฒนาวงการแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทออย่างครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้สามารถแข่งขันในระดับสากล
กิจกรรมเปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย จัดขึ้นภายในงาน Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย
ได้แก่ นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย, นายฐากูร พานิชกุล ดีไซเนอร์ไทยผู้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นสมาชิกของ CFDA (Council of Fashion Designers of America) และได้รับรางวัลจาก Vogue/CFDA Fashion Fund รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อจาก CFDA ให้เข้าชิงรางวัล Swarovski Award for Best Emerging Womenswear Designer ในปี 2006, นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และนางโสภาวดี เพชรชาติ Marketing Director Club 21 (Thailand) Co., Ltd. ดำเนินกิจกรรมเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล
นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย กล่าวว่า สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย
จะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้มแข็งยั่งยืนผ่านการให้ความรู้ ทักษะ เพื่อยกระดับคุณภาพวงการแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ พร้อมผลักดันให้ตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็ง มีศักยภาพและสามารถแข่งขันกับตลาดสากล
อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับภาครัฐ สื่อมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดและการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตลอดจนเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างเครือข่ายหรือคอมมิวนิตี้ให้หมู่ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น
ทำให้ระบบโครงสร้างของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สมาคมยังจะมีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมและให้ความรู้ ทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้ประกอบการที่มีแบรนด์อยู่แล้ว ให้มีทักษะและมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีจุดแข็งทางการตลาด สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยเน้นความร่วมมือระหว่างสมาชิก ในการมีส่วนร่วมถ่ายทอดและพัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสาธารณชนในกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“สมาคมเกิดขึ้นจากแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงงานที่ต่างประเทศ และทรงผลักดันแบรนด์ไทยไปต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน จึงมีพระประสงค์นำเอาความรู้ที่ทรงงานในต่างประเทศมาแบ่งปันดีไซเนอร์คนไทย ขณะที่ดีไซเนอร์ไทยนอกจากจะนำความรู้มาผลักดันแบรนด์ตัวเอง ยังมีหน้าที่นำความรู้ที่มีไปช่วยต่อยอดให้กับชุมชนต่าง ๆ ให้หมู่บ้านงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ต่าง ๆ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยแบบคู่ขนานกัน”
นายพลพัฒน์ยังกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากพลังของความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ สมาคมยังมีความมุ่งมั่นที่จะบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาที่มีภาควิชาเกี่ยวกับแฟชั่นเข้ามามีส่วนร่วมผ่านโครงการประกวดต่าง ๆ เพื่อให้มีโอกาสสัมผัสกับโลกธุรกิจจริง ๆ ยกตัวอย่างการทำ Incubation Center เนื่องจากแฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบ เท่านั้น แต่การทำธุรกิจแฟชั่นนั้นต้องอาศัยหลายตัวแปรในการต่อยอดแบรนด์อย่างยั่งยืน
“ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับเป็นนายกกิตติมาศักดิ์ของสมาคม และมีพระปณิธานว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะพัฒนาวงการแฟชั่นไทย ผมเชื่อว่าจะทำให้สมาคมสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างแน่นอน”
นายพลพัฒน์เสริมว่า สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือมีการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง และมีการจัดทำคอลเล็กชั่นติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีครึ่ง มีผลงานไม่ต่ำกว่า 5 คอลเล็กชั่น
ทั้งนี้ จากภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่หดตัวต่อเนื่อง จากข้อมูล ttb analytics พบว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสร้างเม็ดเงินสูงถึง 4.17 แสนล้านบาท มีการจ้างงาน 4 แสนตำแหน่ง หรือ 10% ของแรงงานในภาคการผลิต แต่ในปี 2566 มูลค่ากลับลดลง 5.9% เหลือ 3.92 แสนล้านบาท และปี 2567 ล่าสุดหดตัวลง 1.42% อยู่ที่ 3.86 แสนล้านบาท
ด้านนายฐากูร พานิชกุล ดีไซเนอร์ไทยผู้สร้างผลงานในระดับนานาชาติ ผู้เป็นสมาชิกของ CFDA (Council of Fashion Designers of America) และได้รับรางวัลจาก Vogue/CFDA Fashion Fund รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อจาก CFDA ให้เข้าชิงรางวัล Swarovski Award for Best Emerging Womenswear Designer ในปี 2006 กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ Thakoon ในปี 2005 และได้ร่วมเป็นสมาชิกของ CFDA ซึ่งเป็นการช่วยต่อยอดการเติบโตของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งในกลุ่มดีไซเนอร์ ผู้ผลิต การทำการตลาดและการทำสื่อ
ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีการก่อตั้งสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย โดยเฉพาะ Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะดีไซเนอร์เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ในการส่งเสริมให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้มีเวทีในการแสดงออกและเปิดประสบการณ์
“สิ่งที่ประทับใจ หลังจากไม่ได้ชมผลงานแฟชั่นไทยมา 7 ปี คือ ผลงานของดีไซเนอร์วันนี้แตกต่างจากในอดีต มีการออกแบบที่ทันสมัยขึ้น ทั้งการออกแบบแพตเทิร์น ลวดลาย การนำแฟชั่นแบบสตรีตเข้ามาผสมผสาน การจับคู่วัสดุหรือเนื้อผ้าที่ใช้ รวมถึงการเลือกใช้สีสัน ที่ช่วยยกระดับผ้าไทยที่มีความโดดเด่นเรื่องงานฝีมือให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่สามารถต่อยอดและพัฒนางานฝีมือต่อไปเรื่อย ๆ”
ขณะที่นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชั่น และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนกับการผลักดันวงการแฟชั่นไทยสู่ระดับสากลว่า ที่ผ่านมาสื่อทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการเป็นกระบอกเสียง เพื่อนำเสนองานฝีมือของคนไทยไปยังสายตาชาวโลก มองว่าการมีสมาคมจะทำให้การร่วมมือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้น
ก่อนหน้านี้เมื่อมีหน่วยงานต่างประเทศติดต่อมา ประเทศไทยยังไม่ได้มีเจ้าภาพหรือตัวกลางที่จะเชื่อมต่อทุกภาคส่วน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อมีการก่อตั้งสมาคมทำให้ประเทศไทยมีเสาหลัก ที่จะเข้ามาเป็นสื่อกลางในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยไปสู่หนทางที่ดีที่สุดสำหรับดีไซเนอร์ไทย พร้อมกับมีการสนับสนุนให้เกิด Incubation Center ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะค่อย ๆ ลองผิดลองถูกเอง เพราะธุรกิจแฟชั่นไม่ใช่ธุรกิจที่ง่าย ต้องมีคนคอยแนะนำและจูงมือไปตลอดทาง
ปิดท้ายด้วยนางโสภาวดี เพชรชาติ Marketing Director Club 21 (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า แบรนด์ไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ไหนในโลก สิ่งที่เป็นความท้าทายของแบรนด์แฟชั่นไทย คือ จะทำอย่างไรให้แบรนด์อยู่รอด เพราะคุณภาพดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องสามารถขายได้ด้วย
“การมีสมาคมที่มีตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีประสบการณ์ในการทำการตลาดจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ได้อย่างดี ที่ผ่านมา Club 21 เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมแบรนด์ไปหาลูกค้าเข้าด้วยกัน ทาง Club 21 ก็เริ่มมีการทำงานร่วมกับแบรนด์ไทย
โดยจะคัดเลือกแบรนด์ที่มีคุณสมบัติครบทั้งสามข้อ คือ เรื่องราว (Story) การสร้างแบรนด์ (Branding) และคุณภาพที่ดี เพราะส่วนตัวเชื่อว่าแบรนด์ไทยไม่แพ้ใคร แต่จะทำอย่างไรเพื่อทำให้ผ้าไทยเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ใส่ได้และชาวต่างชาติก็ชื่นชอบ สามารถทำให้เป็นเหมือนผลงานศิลปะบนตัวผู้สวมใส่”
สำหรับงาน Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับกิจกรรมและองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผ้าไทยผ่านนิทรรศการโซนต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศกว่า 200 บูท และอาหารชวนชิมกว่า 50 ร้านค้า