ในหลวง มีพระราชดำรัส ความขัดแย้งคลี่คลายได้ด้วยความยุติธรรม

ในหลวง มีพระราชดำรัส ความขัดแย้งคลี่คลายได้ด้วยความยุติธรรม

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้

นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา นำ ผู้พิพากษาประจำศาล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

ในโอกาสนี้ นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสิทธิพงศ์ ตัญญพงศ์ปรัชญ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายภีม ธงสันติ เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด นำอัยการประจำกอง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ นายสมศักดิ์ เวทย์วิไล รองอัยการสูงสุด นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ และนายรมย์ศักย์ ธรรมชัยเดชา เลขานุการอัยการสูงสุด ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วย

และตุลาการศาลทหาร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ พลเอก ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ และพลโท สุรเชษฐ์ เจริญปรุ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ต่อคณะผู้พิพากษา ความว่า

“คนเราเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศ ย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างเป็นปรกติ ความสงบสุขของประเทศจึงมิได้เกิดจากการที่ไม่มีความขัดแย้ง แต่อยู่ที่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นคราวใด ก็จะสามารถคลี่คลายลงได้ด้วยความยุติธรรม

จึงกล่าวได้ว่าความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของความสงบสุข หากปรารถนาจะให้ประเทศมีความสงบสุขก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ท่านทั้งหลายผู้เป็นผู้พิพากษา มีหน้าที่โดยตรง ในการธำรงรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน จึงต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณของตนอย่างเคร่งครัด แล้วตั้งใจพิจารณาเรื่องราวข้อขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยวิจารณญาณที่ถูกต้อง

ในการนี้ ความรู้ในตัวบทกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ทุกคนก็จำเป็นต้องสำนึกตระหนักด้วยว่า การใช้กฎหมายเพื่อผดุงรักษา ความยุติธรรมให้ได้แท้จริงนั้น ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง โดยไม่สวนทางกับศีลธรรม จริยธรรม ของมนุษยธรรม ถ้าทำได้ดังนี้ ท่านก็สามารถรักษาคำปฏิญาณ ที่จะธำรงความยุติธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญแห่งความสงบสุขของประเทศได้สำเร็จสมบูรณ์”

จากนั้นมีพระราชดำรัส แก่คณะอัยการ ความว่า “ท่านทั้งหลายเมื่อมาถวายสัตย์ปฏิญาณตน ย่อมมีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จผลสูงสุด สมดังคำปฏิญาณ การจะทำให้ได้ดังที่ตั้งใจนั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และวิจารณญาณที่ถูกต้อง ประกอบพร้อมกัน

ความรู้ จะทำให้แต่ละคนมีความแม่นยำในหลักวิชาและตัวบทกฎหมาย ความสามารถ จะช่วยให้นำความรู้ไปปรับใช้ใด้อย่างเหมาะสมถูกต้อง ตามสถานการณ์และความเป็นจริง

ประสบการณ์ จะช่วยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญที่สร้างสมขึ้น และสามารถนำมาใช้ให้บังเกิดผล วิจารณญาณ จะช่วยให้สามารถพิจารณาตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม จึงขอให้อัยการทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และวิจารณญาณ อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน จะได้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน และธำรงรักษาความยุติธรรมในบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง ดังที่ให้คำสัตย์ปฏิญาณไว้

และมีพระราชดำรัสแก่ คณะตุลาการทหาร ความว่า “หน้าที่ของตุลาการทหารคือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ด้วยการธำรงความยุติธรรมในแผ่นดิน

ท่านทั้งหลายย่อมมีหน้าที่ทั้งในฐานะทหาร คือรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และในฐานะตุลาการ คือรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง จึงอาจกล่าวโดยรวมได้ว่าหน้าที่ของท่าน ได้แก่การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ด้วยการธำรงความยุติธรรมในแผ่นดิน

เรื่องความมั่นคงปลอดภัยกับความยุติธรรมนี้ ทุกท่านคงจะทราบดีอยู่แล้ว ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างมาก เนื่องด้วยความยุติธรรมเป็นปัจจัยข้อใหญ่ ที่ทำให้ชาติบ้านเมืองมีความมั่นคงปลอดภัย เป็นที่พึ่งที่อาศัยที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกสงบ จึงขอให้ทุกท่านสำนึกตระหนักในความสำคัญของหน้าที่ตนอยู่เสมอ แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงโดยเต็มกำลังความรู้ความสามารถ อันจะเป็นการรักษาคำสัตย์ที่ท่านได้ปฏิญาณไว้ได้อย่างเที่ยงแท้บริบูรณ์