สูตรคำนวณบำนาญ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 สูตรใหม่ต่างจากเดิมอย่างไร ?

ประกันสังคม เงินบำนาญ

แกะสูตรคำนวณบำนาญชราภาพ ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 สูตร CARE คำนวณตลอดชีวิตการทำงาน แตกต่างจากเดิมอย่างไร ผู้ประกันตนได้เงินเพิ่มแค่ไหน แฟร์กับผู้ประกันตน ม.39 อย่างไร

ประเด็นสูตรการคำนวณบำนาญ ผู้ประกันตน ประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การที่ผู้ประกันตน ซึ่งเดิมอยู่มาตรา 33 และส่งเงินสมทบต่อในระบบของมาตรา 39 แล้วได้รับเงินบำนาญชราภาพน้อยลงกว่าเดิม จนถึงการที่บอร์ดประกันสังคม ตีกลับสูตรปรับคำนวณบำนาญใหม่ ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหตุยังไม่เข้าใจโดยรวม และจะมีการพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง วันที่ 11 มีนาคม 2568

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนดูข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับเงินบำนาญ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 สูตรเก่าและสูตรใหม่ จะได้เงินเพิ่มขึ้น-น้อยลง แตกต่างจากเดิมอย่างไร ?

คำนวณบำนาญ สูตรเดิมเป็นอย่างไร ?

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะการส่งเงินสมทบประกันสังคม

  • ส่งเงินสมทบต่ำกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว
  • ส่งเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต

และมีเงื่อนไขสำคัญ คือ

  • ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

ทั้งนี้ การยื่นรับสิทธิกรณีชราภาพผู้ประกันตน ม.33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันตน ม.39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

ADVERTISMENT
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.33 จะใช้ฐานของ ม.33
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.39 จะใช้ฐานของ ม.39
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.33 และ ม.39 ทางประกันสังคมจะเฉลี่ยให้

หลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ที่มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2540 โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และกรณีนำส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะบวกเพิ่มอีก 1.5% ของระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน

หากยังคงเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ต่อเนื่องจนถึงวันที่เกษียณ (ในที่นี้คือ อายุ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน) จะได้ตั้งแต่ 3,000-7,500 บาท ขึ้นกับระยะเวลาที่นำส่งเงินสมทบ (อิงจากฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)

ADVERTISMENT

แต่หากเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 มาก่อน แล้วลาออกจากงานประจำ และส่งเงินสมทบต่อ ตามมาตรา 39 ฐานเงินเดือนที่จะใช้ในการคิดเงินบำนาญ คือ 4,800 บาทเท่านั้น และอาจทำให้ได้เงินบำนาญต่อเดือนลดลง

จุดดังกล่าว จึงกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกันตนหลาย ๆ คน ต้องการให้บอร์ดประกันสังคม ปรับสูตรการคำนวณ เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน

สูตรใหม่ คำนวณตลอดอายุทำงาน

นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคมได้เปิดเผยถึงรายละเอียดในการผลักดันประเด็นดังกล่าวถึงการอธิบายการคำนวณบำนาญสูตรใหม่ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. เงินบำนาญชราภาพ จะปรับสูตรการคำนวณใหม่ จากเดิมเป็นการคำนวณจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เปลี่ยนเป็นใช้คำนวณเงินเดือนตลอดอายุทำงานจริง เนื่องจากพบปัญหา คือการที่คนไทยส่วนมากเงินเดือนลดลงช่วงท้ายของการทำงาน ถูกเลิกจ้าง ฯลฯ ผู้ประกันตนส่งฐานรายได้ 15,000 บาท มา 20 ปี ส่งเงินสมทบในมาตรา 39 จำนวน 4,800 บาท มาเป็นเวลา 5 ปี บำนาญจาก 6,000 บาท จะเหลือ 1,600 บาทต่อเดือน

2. การใช้สูตรบำนาญใหม่ไม่ได้กระทบนายจ้าง แค่คิดอย่างเป็นธรรมตามข้อ 1.เฉลี่ยทั้งช่วงการสมทบที่ผู้ประตันตนเสียประโยชน์

3.นอกจากนี้ สูตรนี้ยังคิดใหม่ตามค่าครองชีพ เช่น คุณเคยได้เงินเดือน 10,000 บาทปี 2548 แต่ในปี 2568 ได้เงิน 10,000 บาท มันมีค่าเท่ากับ 15,000 บาท เราก็คิด ว่าปี 2548 คุณได้เงิน 15,000 บาท จึงเอามาเฉลี่ย หรือเคยได้ 15,000 บาทปี 2548 ในปี 2568 อาจมีค่าประมาณ 20,000 บาท ก็นำค่านี้มาเฉลี่ยเหมือนว่า ได้เงิน 20,000 บาท ในปี 2548

4. แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สูตรใหม่จะไม่มีทางได้บำนาญเกินสูตรเก่า เพียงแค่เป็นการปรับ (adjust) ให้ผู้ที่เสียประโยชน์

5. คนส่วนมากโดยเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา 39 จะได้บำนาญเพิ่มประมาณ 1,000 บาท และจะทำให้เฉลี่ยแล้วคนได้บำนาญไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน

6. ในระยะ 10 ปี ใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท แต่สามารถช่วยผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง หลังจากนั้นงบประมาณก็จะไม่เพิ่ม และไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม

7. ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงสูตรใหม่ โดยส่วนใหญ่จะได้เพิ่มขึ้น แต่มีบางส่วนที่จะได้รับลดลง ตามข้อเสนอของอนุกรรมการฯ จะมีการชดเชยให้ไม่น้อยกว่าสูตรเดิมที่ได้รับ เป็นระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่การคำนวณตามปกติ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดฯ หากการคำนวญบำนาญสูตรใหม่ผ่าน

8. สูตรคำนวณบำนาญนี้ใช้ในหลายประเทศ และเป็นไปตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่หน่วยงานของ สปส.ทำวิจัยและให้คำปรึกษา

“สิ่งนี้จะกระทบกับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นจากการใช้สูตรคำนวณแบบใหม่ราว 3 แสนคน ที่จะได้เพิ่มจากเฉลี่ยราว 1,000 บาท ขยับเป็น 2,000 บาทต่อเดือน เมื่อบอร์ดยังไม่ผ่านเรื่องจึงเป็นความเจ็บปวด ยกตัวอย่าง มีผู้ประกันตนมาตรา 39 แต่เงินบำนาญของเขาจะลดลงไปประมาณ 50 % หากยังส่งมาตรา 39 ต่อไป คนที่จะต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท แต่จะได้รับเงินบำนาญเพียงเดือนละพันกว่าบาท” นายษัษฐรัมย์ กล่าว

นายษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า สูตรเงินคำนวณบำนาญใหม่นี้ไม่ได้กระทบเงินสมทบของนายจ้าง แต่จะทำให้ผู้ประกันตนลืมตาอ้าปากได้ แต่ถูกเตะถ่วงออกไป 2-3 สัปดาห์ แต่ความล่าช้านี้คือเลือด น้ำตา ชีวิตของประชาชนคนธรรมดา เมื่อไม่ได้รับเงินบำนาญที่เพียงพอ บางคนต้องเลิกส่งมาตรา 39 ต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลที่รักษามะเร็งอยู่ เพราะเหตุผลเรื่องเงินบำนาญ และตนจะไม่ยอมแลกสิ่งเหล่านี้กับกระบวนการตรวจสอบที่เราทำอยู่

ปี’69 เริ่มต้นปรับเพดานค่าจ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อมกราคม 2568 ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 14) ครั้งที่ 1/2568 มีการรับทราบ สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเห็นชอบหลักการของร่างกฎกระกรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. และให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายต่อไป

การปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เพื่อคำนวณเงินสมทบประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 จะเป็นรูปแบบบันได 3 ขั้น จากเพดานค่าจ้างสูงสุดเดิม 15,000 บาท เป็น 17,500 บาทในปี 2569-2571 จากนั้นปรับเป็น 20,000 บาทในปี 2572-2574 และสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป

เพดานค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยปี 2569-2571 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 6,125 บาทต่อเดือน ปี 2572-2574 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 7,000 บาทต่อเดือน และปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 8,050 บาทต่อเดือน

ขยายความ สูตรคำนวณบำนาญใหม่

ณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายการปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณบำนาญ แบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือ “เฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงาน” โดยระบุว่าสูตรดังกล่าว คิดค่าจ้างทุกเดือนที่เคยส่งสมทบ ปรับ (Index) ค่าจ้างในอดีตให้เป็นค่าเงินปัจจุบันก่อนนำมาคำนวณ และเน้นหลัก “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วนจริง”

ณภูมิระบุว่า สูตรดังกล่าว มีกติกา “เปลี่ยนผ่าน” โดยผู้ที่รับบำนาญอยู่แล้ว (ประมาณ 800,000 คน) ไม่มีใครได้รับบำนาญลดลง แล้วถ้าคำนวณด้วยสูตรใหม่แล้วได้มากขึ้น ก็ปรับให้เพิ่มทันที

ส่วนผู้ที่จะเริ่มรับบำนาญหลังสูตรใหม่บังคับใช้ หากสูตรเก่าให้บำนาญมากกว่า จะคำนวณแบบ “ผสม” (เก่า+ใหม่) จ่ายตลอดชีวิต โดยแบ่งตามปีที่จะเริ่มรับบำนาญ ดังนี้

  • 2568-2569: สูตรเก่า 100%
  • 2570: เก่า 80% + ใหม่ 20%
  • 2571: เก่า 60% + ใหม่ 40%
  • 2572: เก่า 40% + ใหม่ 60%
  • 2573: เก่า 20% + ใหม่ 80%
  • 2574 เป็นต้นไป: ใช้สูตรใหม่ (CARE) เต็มรูปแบบ

พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ใครได้เพิ่ม – ใครได้ลด? โดยยกตัวอย่างการคำนวณ จากคนที่ส่งสมทบตั้งแต่ปี 2542 และเกษียณปี 2568

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เคยส่งฐาน 15,000 (ตอนมาตรา 33) แล้วเปลี่ยนไปส่ง 4,800 บาทช่วง 6 ปีสุดท้าย บำนาญเพิ่มมาก (จาก ~1,750 เป็น ~4,789 บาท หรือ +173%)
  • ผู้ที่ส่งมาตรา 33 ไม่นานแล้วมาส่งมาตรา 39 นาน ๆ บำนาญเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเท่ากรณีแรก
  • ผู้ที่ส่งฐาน 15,000 บาทตลอด พอเพดานขยับเป็น 17,500 ในปี 2569 บำนาญขยับขึ้นจาก 5,700 เป็น 6,039 บาท (+6%) แต่ถ้าเกษียณหลังปรับเพดานค่าจ้างไปเกิน 60 เดือน สูตรใหม่จะได้น้อยกว่าเก่า (เพราะสูตรเก่าไม่นำช่วงเพดานเก่า 15,000 มาคิด จึงได้มากกว่าตามสัดส่วนการส่งจริง)
  • กลุ่มค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท จะได้บำนาญใกล้เคียงสูตรเดิม
  • ผู้ที่ค่าจ้างต่ำเกือบตลอด แต่ไปเร่งส่งสูง 15,000 ช่วง 5 ปีสุดท้าย บำนาญอาจลดลง เพราะสูตร CARE ป้องกันไม่ให้เอาเปรียบระบบโดยจ่ายสูงเฉพาะโค้งสุดท้าย

‘ประกันสังคม’ พร้อมดันสูตรบำนาญ CARE

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีกระแสกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) วันที่ 11 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า สปส. เข้าใจความกังวลของผู้ประกันตน เกี่ยวกับกระแสข่าวมติคณะกรรมการประกันสังคมในเรื่องการคำนวณเงินบำนาญชราภาพสูตรใหม่ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 อาจได้รับผลกระทบ และด้วยเรื่องนี้ จะมีการพิจารณาต่อเนื่องในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ในวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568

สปส.ขอเรียนชี้แจงเพื่อให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่า สปส.ได้ทำการศึกษาสูตรบำนาญแบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือ “เฉลี่ยตลอดการทำงาน ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน” มาตั้งแต่ปี 2563 โดยร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO) เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนทุกกลุ่ม

ด้วยความมุ่งมั่นของสำนักงานที่ต้องการแก้ปัญหาของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ย้ายมาเป็นมาตรา 39 แล้วได้เงินบำนาญชราภาพต่ำกว่าความเป็นจริง ให้สามารถดำรงชีพได้แม้อัตราเงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแผนการปรับฐานเพดานค่าจ้างปี 2569 (เพดานใหม่ 17,500 บาท จะถูกนำมาคำนวณเพิ่มบำนาญให้ทันที) และยังสร้างความมั่นคงให้กองทุนระยะยาว และเป็นธรรมต่อผู้ประกันตนทุกกลุ่มอีกด้วย

ในส่วนของการขับเคลื่อน สปส.กำลังเร่งเดินหน้าประสานทุกภาคส่วน เพื่อให้การปรับสูตรบำนาญนี้สำเร็จโดยเร็ว ขอยืนยันว่าการปรับสูตรการคิดคำนวณเพิ่มเงินบำนาญชราภาพที่จะเสนอนี้ สปส.พร้อมผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันในการดูแล เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน สปส.พร้อมรับฟังทุกความเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

ทั้งนี้ หลังจากมีกระแสข่าวกดดันให้บอร์ดประกันสังคมพิจารณาปรับสูตรการคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามไปยังนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม และคณะผู้บริหารในสำนักงานประกันสังคม แต่ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล แจ้งเพียงว่าจะออกเป็นเอกสารชี้แจง