
เครือข่ายธุรกิจไทยและอาเซียน ตื่นตัวรับแนวคิด EPR ตอกย้ำให้ผู้ผลิตขับเคลื่อนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
วันที่ 4 เมษายน 2567 ปัจจุบันเจ้าของเครือข่ายธุรกิจ ได้นำหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility : EPR มาเป็นแนวทางใน การดำเนินธุรกิจด้วยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร
ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้อง กับการดำเนินงานของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟที่ได้ยึดมั่นในหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ นับตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการจัดบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค
ล่าสุดได้สนับสนุนการจัดงาน C asean Forum (CaF) ในหัวข้อ “ASEAN Action Towards Circular Economy : Move Forward with Extended Producer Responsibility” จัดโดย ซี อาเซียน (C asean) ร่วมกับเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue หรือ ACSDSD)
ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินการเพื่อนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) มาใช้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย
ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ผลิต และเจ้าของเครือข่ายธุรกิจต่าง ๆ กว่า 300 ชีวิต ตอบรับเข้าร่วม มีวิทยากรชั้นนำระดับโลก ที่มาแชร์ประสบการณ์ และไอเดีย กลยุทธ์เกี่ยวกับเรื่องราวการดำเนินธุรกิจ รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในมุมของผู้กำหนดนโยบาย และผู้ประกอบการ เรื่องบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
“ต้องใจ ธนะชานันท์” กรรมการผู้จัดการ ซี อาเซียน กล่าวว่า ในขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังรับมือความท้าทายต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการของเสียและการลดลงของทรัพยากรอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศกำลังพิจารณาถึงการนำหลัก EPR มาใช้ตามบริบทของตัวเอง การได้แบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างการดำเนินงานร่วมกันในวันนี้ จะช่วยผลักดัน EPR ให้ใช้ได้จริงและเกิดผลสัมฤทธิ์

“ปฏิญญา ศิลสุภดล” รองเลขาธิการและคณะกรรมการบริหารสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า EPR คือ หลักการเพื่อให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนร่วมกันตลอดห่วงโซ่ ในประเทศไทยเราไม่ได้โฟกัสอยู่ที่การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่คำนึงตั้งแต่การออกแบบ การสื่อสารกับผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังใช้งาน ระบบการรวบรวมเพื่อคัดแยกและนำบรรจุภัณฑ์กลับมารีไซเคิล
ในปัจจุบันภาครัฐกำลังขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย EPR โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันสร้างระบบเก็บกลับที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเรามีกรอบกฎหมาย EPR ที่ชัดเจน จะทำให้เห็นผลว่า การเก็บกลับอย่างมีประสิทธิภาพ ได้วัสดุที่มีคุณภาพเข้าระบบ ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตลดลง หากไม่มีระบบที่ดี อนาคตเราอาจจะไม่มีวัตถุดิบกลับมาใช้ อาจจะต้องเสียภาษีหรือค่ากำจัด ค่าจัดการบางอย่าง ดังนั้นเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน EPR คือหลักการที่จะทำให้ภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันและสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้น”
“มร.ไค ฮอฟแมน” ผู้อำนวยการโครงการด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหัวข้อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภูมิภาคอาเซียน (Circular Economy for the ASEAN region) ว่า ปัจจุบันมีการพูดถึง EPR อย่างกว้างขวางว่าเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการออกแบบเพื่อรีไซเคิลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายสูงสุดของเรา คือการนำวัสดุไปรีไซเคิล
ตอนนี้มีหลายเครือข่ายธุรกิจต่างก็เริ่มผลักดันให้เกิดการดำเนินการเกี่ยวกับ EPR ในภูมิภาคอาเซียน แต่ทั้งนี้ควรต้องมีการกำหนดเป้าหมายและขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะสามารถเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย และองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ หรือ PRO เป็นหัวใจของการขับเคลื่อน EPR โดยควบคุมดูแลทั้งระบบตั้งแต่กระแสการเงิน และการไหลของเสีย รวมไปถึงการรับผิดชอบการจดทะเบียน การบริหารจัดการ รวบรวมข้อมูล ให้ความรู้ กำกับดูแล บริหารการเงินและจัดทำรายงาน
ซึ่งในเยอรมนีนั้น ผู้ผลิตสินค้าต้องดูแลตั้งแต่การออกแบบสินค้าให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือซ่อมแซมได้เพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องดูแลรับผิดชอบในการกำจัดสินค้าใช้แล้วที่อาจเป็นพิษ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถ น้ำมันเครื่อง และขยะจากวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ แน่นอนว่า กระบวนการบริหารจัดการอาจเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่การไม่ทำอะไรในเรื่องนี้ก็มีต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่นการสูญเสียในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงไป
ดังนั้น กลไกเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงิน กองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการลดหย่อนภาษีและลดค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทผู้ผลิตที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน