TIPMSE ผนึกพันธมิตรเครือข่าย PackBack ขับเคลื่อน EPR in action ภาคสมัครใจ

TIPMSE

TIPMSE ผนึกพันธมิตรขยายเครือข่าย PackBack ขับเคลื่อน EPR in action ภาคสมัครใจ เก็บกลับบรรจุภัณฑ์สู่วงจรรีไซเคิล ขยายความรับผิดชอบผู้ผลิตดูแลครอบคลุมตลอดวงจรผลิตภัณฑ์ 

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE จัดแถลงความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ PackBack By TIPMSE, PPP Plastics, PRO Thailand Network และ Aluminum Closed Loop Packaging System

TIPMSE

โดยความร่วมมือนี้จะเป้าหมายในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทั้งแก้ว กระดาษ พลาสติก กล่องนม และกระป๋องอลูมิเนียม เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยกลไก Extended Producer Responsibility หรือ EPR ซึ่งเป็นกลไกการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน TIPMSE กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 โครงการ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยังยืน” ได้ขยายเครือข่ายขับเคลื่อน EPR เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ จากวันที่เปิดตัวความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน

“ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และพื้นที่นำร่อง จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง รวม 50 องค์กร ซึ่งในวันนี้เราสามารถขยายความร่วมมือสู่ 100 องค์กร และได้เริ่มปฏิบัติการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ EPR ภาคสมัครใจในปีนี้”

TIPMSE

ด้านนายวิรัช เกลียวปฎินนท์ ประธานกลุ่มพลาสติก ส.อ.ท. และ PPP Plastics กล่าวว่า PPP Plastic เป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการจัดการพลาสติกด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้เริ่มดำเนินโครงการสร้างระบบและ infrastructure model เพื่อนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่การรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ตามนโยบายและ Roadmap ของประเทศไทย

“PPP Plastic เล็งเห็นความสำคัญของนโยบาย EPR อันเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วต่างๆ วันนี้ เราจึงยินดีร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน EPR เพื่อส่งเสริมปฏิบัติการ EPR ภาคสมัครใจ ในงาน EPR in action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary”

ส่วนนางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้แทน PRO Thailand กล่าวว่า “PRO Thailand Network เป็นองค์กรที่เกิดจากองค์กรภาคเอกชน 7 บริษัท โดยมีภารกิจในการทดลองและพัฒนากลไกการดำเนินงานขององค์กรผู้แทนความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ PRO ซึ่งจะกลายเป็นองค์กรที่สำคัญต่อกระบวนการ EPR ในอนาคต

“ด้วยเหตุนี้ PRO Thailand Network ขอเป็นองค์กรหนึ่งที่ประกาศเจตจำนงกับ PackBack ในการขับเคลื่อน EPR in action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนต่อไป”

TIPMSE

สุดท้าย นางกิติยา แสนทวีสุข ผู้แทนโครงการ Aluminum Closed Loop Packaging System กล่าวว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคม โดยมุ่งเน้นการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมให้กลับมาเป็นกระป๋องอลูมิเนียม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและคุณค่าของวัสดุ ปัจจุบันเรามุ่งดำเนินงานในพื้นที่เกาะ แหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ และมีข้อจำกัดในการจัดการขยะ

“ดังนั้น Aluminum Closed Loop Packaging System จึงขอเป็นองค์กรหนึ่งที่ประกาศเจตจำนงกับ PackBack เพื่อขับเคลื่อน EPR in action รวมพลังเดินหน้า EPR Voluntary พร้อมร่วมผลักดันใน EPR ภาคสมัครใจให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงและเป็นประโยชน์กับทั้งภาคธุรกิจ ภาคสังคม และช่วยดูแลให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

TIPMSE