
“ขยะอาหาร” เป็นปัญหาท้าทายให้กับโลกและประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างสูญเปล่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจใน “โครงการ Ugly Veggies Plus” คือการประยุกต์ใช้ขยะอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยั่งยืน สร้างเงิน สร้างรายได้ได้จริง
เศรษฐกิจหมุนเวียนคือจุดเริ่ม
รศ.ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า Ugly Veggies มีจุดเริ่มต้นมาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายพืชผักไม่สวยในพื้นที่อีสาน แล้วต่อยอดมายังการแก้ปัญหาขยะอาหาร เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้

โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะอาหารให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดี ได้แก่ “ดินพร้อมปลูก-โปรตีนบาร์สุขภาพ-หลอดพลาสติกย่อยสลายได้” ซึ่งช่วยลดปริมาณของเสียและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ เพื่อสร้างเศรฐกิจหมุนเวียน และเป็น Zero Waste
“ดินพร้อมปลูก” นวัตกรรมดินปลูกจากเศษผักไม่สวย กระบวนการคือ นำเศษผักไม่สวยและเหลือทิ้งมาอบแห้ง แล้วนำไปหมักกับดินและวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง เพื่อผลิตเป็นดินปลูก เมื่อผ่านกระบวนการแล้ว สารอินทรีย์เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นแร่ธาตุอาหารสำหรับพืชต่อไป
“โปรตีนบาร์สุขภาพ” นวัตกรรมการพัฒนาสูตรอาหารจากผักไม่สวย ผลิตจากผงผักผสมผงพืชโปรตีนสูงอัดพอง ผลิตจากธรรมชาติ 100% จึงช่วยเสริมเรื่องการบริโภคยั่งยืน เนื่องจากโปรตีนพืชมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยแปรรูปผักด้วยกระบวนการอ่อนโยนช่วยรักษาวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ให้คงอยู่ได้มากที่สุด มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
“หลอดพลาสติกย่อยสลายได้” นวัตกรรมการพัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้จากเศษผักที่ไม่สวย มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากการผสมกันของ PLA, PBS และ CMC ทำให้พลาสติกย่อยสลายได้ เมื่อทิ้งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ที่มีจุลินทรีย์และความชื้น จะย่อยสลายได้ภายในเวลา 1 หรือ 2 ปี ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาหลายสิบปี
และยังมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นจาก PLA ในตัวพลาสติก ขณะที่ PBS มีคุณสมบัติเพิ่มความยืดหยุ่นและทนทาน การรวมคุณสมบัติทั้ง 2 ประเภทวัสดุนี้ ทำให้ได้พลาสติกที่มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่น เหมาะสมกับการใช้งานที่หลากหลาย ดีต่อสุขภาพ ด้วย PLA-PBS
ทั้งสองเป็นวัสดุที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน ไม่มีสารพิษและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับ CMC ที่เป็นไฟเบอร์จากเซลลูโลสช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีความเสถียรในการใช้งานและช่วยให้วัสดุย่อยสลาย
ได้ดีขึ้น
ความยั่งยืนที่สร้างรายได้
“โครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม โดยสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์นำร่องถึง 1.33 ล้านบาท ในเวลา 3 ปี อีกทั้งยังขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการกว่า 100 ราย ที่นำแบบจำลองของโครงการไปปรับใช้ในเชิงพาณิชย์”
รศ.ดร.ภาณินีกล่าวอีกว่า ทุกผลิตภัณฑ์มีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค โดยคิดตามหลักธุรกิจเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน และสร้าง Impact ได้จริง โครงการนี้มีการคำนวณผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ได้ 1.2 กว่า แสดงให้เห็นว่ามีผลต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันโครงการมีรายได้เป็นเชิงธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แต่ความยั่งยืนคือการพัฒนาต่อยอดและสร้างรายได้ ดังนั้น ก้าวต่อไปของโครงการจึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain Traceability เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบ ย้อนกลับวัตถุดิบจากขยะอาหาร, สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
รวมถึงใช้ Life Cycle Assessment (LCA) และ Carbon Footprint ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ และพัฒนากลยุทธ์เพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในอนาคตจะสานต่อความร่วมมือกับ “แมริออท” เพื่อสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาต่อไป
ผลการวิจัยของโครงการ Ugly Veggies Plus ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำไปใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

“แมริออท” สานความร่วมมือ
พชรธรณ์ นิยมเธียรสิน ผู้จัดการฝ่ายสรรหาและคัดเลือกบุคลากร ประเทศไทย แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกโรงแรมในเครือมีเป้าหมายรับรองด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม อาทิ Green Hotel, คาร์บอนฟุตพรินต์ หรือพลังงาน อย่างน้อย 2 การรับรองต่อปี จึงประสานกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการทำให้โครงการดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันแมริออทไม่มีบริการหลอดแก่ลูกค้าแล้ว แต่ด้วยความพรีเมี่ยม การที่มีหลอดพลาสติกย่อยสลายได้เป็นตัวเลือกนอกเหนือจากหลอดกระดาษถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ช่วยประหยัดค่าจัดการขยะพลาสติกได้ดี
ในเรื่องของดิน เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ ทางแมริออทเริ่มนำร่องที่ W Bangkok Hotel แล้วขยายผลไปยังโรงแรมในเครือ และสุดท้ายโปรตีนบาร์จะเริ่มแจกจ่ายให้พนักงานหลังบ้าน เนื่องจากมีชั่วโมงการทำงานนานจะถูกจัดเป็น Snack เสริมระหว่างวัน
Ugly Veggies Plus ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำที่ต่อยอดไปสู่ระบบนิเวศทางธุรกิจได้ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ของประเทศไทยได้ในระยะยาว โดยจะบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อวัดคาร์บอนเครดิตต่อไป