Masterchef Thailand แถลง หลังเกิดดราม่าหนัก ชี้ ไม่ใช่ปลากระเบนนก!

กลายเป็นกระแสดราม่าที่กำลังวิจารณ์-ถกเถียงบนโลกออนไลน์ เมื่อรายการแข่งทำอาหารชื่อดังอย่าง Masterchef Thailand ได้มีการนำเอาปลากระเบนมาให้ผู้แข่งขันทำอาหาร โดยหลังจากเทปดังกล่าวมีการออนแอร์ไป ผู้ชมรายการ และนักวิชาการหลายคน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงสายพันธุ์ของปลากระเบนดังกล่าว ว่า เป็นสัตว์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบทำอาหาร

 

จากกระแสข่าวดังกล่าว ทำให้โลกออนไลน์มีการออกมาพูดถึงมากมาย โดยเพจ “digitalay” ได้โพสต์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า

การใช้ปลากระเบนเป็นวัตถุดิบหลักในการแข่งขันทำอาหาร ซึ่งการใช้ปลากระเบนทำอาหารนั้นเป็นเมนูปรกติของไทย และหลายชาติมานาน และไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรหากเป็นปลากระเบน หรือสัตว์อื่นใดก็ตาม ที่พบได้ทั่วไปและไม่ได้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในภาพจะเห็นว่ามีการโชว์ปลากระเบนตัวใหญ่ (ตัวบนสุดลายจุดๆ) ซึ่งน่าจะเป็นกระเบนนก (Aetobatus ocellatus) พบได้ในน่านน้ำไทย หรือ กระเบนค้างคาว (Aetobatus narinari) ไม่พบเห็นในน่านน้ำไทย

และปัญหาคือ ทั้งสองตัวนี้ถูกจัดอยู่ใน IUCN Red List of Threatened Species หรืออยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ซึ่งกระเบนนก (Aetobatus ocellatus ) ถูกจัดอยู่ในระดับ Vulnerable เทียบเท่ากับเต่ามะเฟือง ส่วนกระเบนค้างคาว Aetobatus narinari ถูกจัดอยู่ในระดับ Near Threatened เทียบเท่ากับนกเงือกหลายๆ ชนิดในไทย และการที่นำปลากระเบน (eagle ray) มาเป็นวัตถุดิบนั้นในแง่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ต่างอะไรกับการนำเต่ามะเฟือง หรือ นกเงือก มาทำอาหารเลย

นอกจากนี้ข้อมูลของกรมประมงบ่งชี้ว่า อัตราการจับได้ของกระเบนในประเทศไทยลดลงกว่า 70% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมากกว่าฉลามด้วยซ้ำ นั่นแปลได้ว่า กระเบนเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามจนจำนวนประชากรลดลงอย่างน่าตกใจ

ภายหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเพื่อถามหาที่มาของปลากระเบนดังกล่าวว่า เป็นวัตถุดิบที่ได้มาจากแหล่งใด เนื่องจากปลากระเบนนั้น เป็นสัตว์ที่เรียกว่า เริ่มหายากในท้องทะเล อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นอีกส่วนว่า ปัจจุบันปลากระเบนเริ่มเพาะได้ในฟาร์ม ทั้งในบ่อและในตู้ จึงขอรอฟังคำชี้แจงจากรายการอีกครั้ง

 

(อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

ขณะที่ อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า

“บอกตามตรงว่าผมเหนื่อยมากครับโดยเฉพาะวันนี้ เป็นวัน world wildlife day วันที่คนทั้งโลกหันมาดูแลสัตว์ป่าสัตว์ทะเล แคมเปญประจำปีนี้ยังเน้นสัตว์ทะเลหายาก อีกทั้งลูกเต่ามะเฟืองเพิ่งออกจากไข่ไปเมื่อคืน ความรู้สึกยินดียังมีอยู่เต็มเปี่ยม ก่อนจะมาเห็นภาพเช่นนี้ กระเบนนกเป็นสัตว์หายากของทะเลไทย บางคนดำน้ำกันหลายปี ยังไม่เคยเจอสักตัว เราเคยพยายามผลักดันให้เป็นสัตว์คุ้มครอง แต่ยังติดขัดอยู่บางประการ เพราะฉะนั้นยังไม่ผิดกฎหมาย แต่โลกยุคนี้ เพียงคำว่าผิดหรือไม่ผิดกฏหมาย อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมืองไทย เมืองที่ผู้คนกำลังรักทะเลมากมาย อยากขอร้องว่า ช่วยกันบ้างเถิดครับ ช่วยกันรักทะเลบ้างเถอะครับได้โปรด”

ทั้งนี้ อาจารย์ธรณ์ ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า กระเบนนก เป็นชื่อเรียกของกระเบนในกลุ่มนี้ ชนิดที่ปรากฎในภาพ บางคนบอกว่าเป็น A. ocellatus พบในน่านน้ำเราและรอบด้าน บางคนบอกว่าเป็น A. narinari พบเฉพาะในแอตแลนติก แต่มีข้อมูลจากสมาชิกเพื่อนธรณ์ท่านหนึ่งให้ข้อมูลมายืนยันว่า narinari ห้ามนำเข้า ที่สำคัญไม่ว่าชนิดไหน ถูกจัดอยู่ใน IUCN’s Red List ถ้าเป็น ocellatus อยู่ในระดับ Vulnerable ถ้าเป็น narinari อยู่ในระดับ Near Threatened

ซึ่งทั้งสองสถานะจัดอยู่ในสถานะของการอนุรักษ์ (conservation status) แต่ VU จะเสี่ยงมากกว่า NT(VU อยู่ในระดับเดียวกับแมนต้า ที่ปัจจุบันเป็นสัตว์คุ้มครอง) ทั้สองชนิดล้วนจัดอยู่ในสัตว์ที่มีปริมาณลดน้อยลง

ล่าสุด ทางเพจ MasterChef Thailand – มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ได้มีการออกมาโพสต์ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า  ในการนำเสนอวัตถุดิบปลากระเบน ในรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปลากระเบนดังกล่าวคือ ปลายี่สน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ปลากระเบนเนื้อดำ หรือปลากระเบนค้างคาว ถือเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในหลากหลายเมนู อาทิ ปลายี่สนฟู ปลากระเบนดำแดดเดียว ต้มยำเนื้อปลากระเบนดำ และโดยเฉพาะปลากระเบนหวาน ซึ่งมีขายแพร่หลายตามท้องตลาด รวมทั้งใน Website Shopping Online ทั่วไป อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของอาหารไทย อาทิ ข้าวแช่โดยเป็นเครื่องข้าวแช่ที่เรียกว่า ปลายี่สนผัดหวาน ในปัจจุบันเมนูดังกล่าวยังติดอันดับ OTOP 5 ดาว ของจังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว ปลายี่สน หรือปลากระเบนเนื้อดำนี้ ได้ถูกนำเสนอในรายการอาหารทางโทรทัศน์หลากหลายช่องมาโดยตลอด รายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทยมิใช่รายการแรกที่นำเสนอวัตถุดิบชนิดนี้

ทางรายการฯ มีจุดยืนในการนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและให้ความรู้ด้านต่างๆ ในการประกอบอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ในการถ่ายทำแต่ละครั้งคือวัตถุดิบทั่วไปที่ใช้ในการประกอบอาหารจริงและหาซื้อได้ในท้องตลาด รายการฯ ไม่มีนโยบายในการนำสัตว์ต้องห้ามมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ดังนั้นหากมีวัตถุดิบพิเศษ ทางรายการจึงยึดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบทุกครั้ง

 

 


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :

digitalay
MasterChef Thailand – มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย
Thon Thamrongnawasawat