ม็อบร่มฮ่องกง สู่ม็อบคณะราษฎรไทย สถานีต่อไป #ถ้าการเมืองลาวดี

เมื่อคืนวานนี้ (19 ต.ค.63) ใครที่สิงอยู่ในทวิตเตอร์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร อาจสะดุดตากับแฮชแท็กใหม่ ที่ไม่ใช่ภาษาไทย (แต่เชื่อว่าคนไทยหลายคนอ่านออก) นั่นคือ #ຖ້າການເມືອງລາວດີ (#ถ้าการเมืองลาวดี) 

ซึ่งเมื่อช่วง 7 โมงเช้าที่ผ่านมา แฮชแท็กนี้ได้ติดอันดับ 4 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย รองจาก #ราษฎรไทยใต้ร่มพระบารมี #อนุชนรักชาติศาสน์กษัตริย์ และ #เยาวชนปลดแอก

ถ้าการเมืองลาวดีติดเทรนด์

เมื่อลองคลิกเข้าไปดูที่ #ถ้าการเมืองลาวดี พบว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทย พากันส่งมอบกำลังใจให้กับคนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านภาษาอังกฤษ เช่น ขอร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวลาว ต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของพวกเขา ให้อาเซียนสปริงจุดประกายความหวัง (“อาเซียนสปริง” เป็นการเล่นคำจากคำว่า “อาหรับสปริง” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองครั้งใหญ่ของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง)

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นที่ว่า ยืนหยัดไปกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพื่อประชาธิปไตย เพื่อทุกคน, ส่งความรักและกำลังใจจากประเทศไทย, คนไทยขอยืนเคียงข้างคนลาว ฯลฯ

คนไทยให้กำลังใจคนลาว

 

ปรากฏการณ์เรียกร้องการเมืองดี ของประชาชนในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงนั้น เกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยเริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยถี่ขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน ซึ่งนำไปสู่การปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 20 กันยายน

จากนั้น ตามด้วยการชุมนุมเดือนตุลาคม ที่ร้อนระอุตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เมื่อมีการจับกุมแกนนำบางส่วน ซึ่งรวมถึง “ไผ่ ดาวดิน” และ “แอมมี่ The Bottom Blues” ทำให้วันที่ 14 ตุลาคม ผู้ชุมนุมปักหลักกันข้ามคืนหน้าทำเนียบรัฐบาล และแม้แกนนำจะทยอยถูกจับกุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงหลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม ที่สี่แยกปทุมวัน ใจกลางกรุงเทพฯ แต่การนัดชุมนุมรอบ ๆ กรุงเทพฯ และปริมณทล ยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีก 3 วัน

นับแล้ว เป็นเวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน จนเกิด #ถ้าการเมืองลาวดี ขึ้นมาในทวิตเตอร์

แต่สำหรับม็อบที่เกิดขึ้นก่อนใครในเอเชีย (นับเฉพาะยุคเทคโนโลยี) เห็นจะเป็น “ขบวนการปฏิวัติร่มในฮ่องกง” ซึ่งถูกยกขึ้นเป็นต้นแบบแห่งการปฏิวัติยุคใหม่

ข้อมูลจากข่าวสด เผยว่า ขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกง หรือ “ขบวนการปฏิวัติร่ม” เริ่มต้นจากเด็กมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ.2554 โดยต้องการผลักดันฮ่องกงใน 3 ด้าน ได้แก่ นโยบายด้านเยาวชน นโยบายด้านการศึกษาของฮ่องกง และ การปฏิรูปทางการเมือง

จุดยืนสำคัญของพวกเขาคือ การต่อสู้เรียกร้องให้ปกป้องนโยบายการศึกษาของฮ่องกง ไม่ให้รัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซง ซึ่งนโยบายการศึกษาแบบจีน มีลักษณะวิชาที่เน้น ศีลธรรม และนโยบายแห่งชาติ ตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

กระทั่งเรื่องดังกล่าวก็ถูกยกระดับเป็นการต่อสู้กับรัฐบาลฮ่องกงโดยตรงและได้รับชัยชนะ แต่แม้จะรับชัยชนะในเรื่องหลักสูตรฯ แล้ว นักเรียนกลุ่มดังกล่าวยังคงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องและทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

ปี พ.ศ.2557 นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้ชูประเด็นการเรียกร้องที่สำคัญคือ การเสนอชื่อผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง พวกเขาเชื่อว่า ผู้นำฮ่องกง ควรมาจากการเสนอชื่อจากประชาชนฮ่องกงเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา บุคคลที่จะถูกนำมาเลือกตั้งนั้น จะถูกคัดเลือกมาแล้วโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ต่อมา รัฐบาลจีน เริ่มใช้วิธีจับกุมกักขังและการกวาดล้างผู้เห็นต่าง ก่อนเกิดการประท้วงที่ถูกเรียกว่า “ยึดพื้นที่ใจกลางเกาะฮ่องกงด้วยความรักและสันติภาพ” กินเวลาถึงเกือบ 3 เดือน มีผู้เข้าร่วมเกิน 5 แสนคน

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าพ่นสีและบุกทำลายเข้าไปใกล้บริเวณจัตุรัสซีวิค และเกิดการปะทะกับตำรวจ ซึ่งใช้สเปรย์พริกไทยและโล่กระบองต่อสู้กับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมนั้นไม่มีอาวุธ มีเพียงร่มที่ใช้ป้องกันสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตา ร่มจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ตำรวจไม่เปิดทางให้รถพยาบาลเข้าช่วยเหลือ

ในปี พ.ศ.2559 ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง ตัดสินใจตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มที่ไม่มีแกนนำใดเป็นแกนนำหลัก ได้แก่ กลุ่ม The Scholarism กลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (HKFS) และกลุ่มยึดเซ็นทรัลด้วยความรักและสันติภาพ (OCLP) แม้จะมีจุดเน้นในการผลักดันที่ต่างกัน แต่กลุ่มเหล่านี้เชื่อในประชาธิปไตยร่วมกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิวัติร่มของฮ่องกง

ทว่าการต่อสู้ถูกยกระดับขึ้นแล้ว วิธีการต่อสู้ของชาวฮ่องกงนั้นจึงถูกพัฒนาและหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การชุมนุมแบบไร้แกนนำ การสลายตัวแล้วรวมใหม่อย่างรวดเร็ว การรวมตัวกันเป็นก้อนเพื่อความปลอดภัย คอยระวังการใช้บริการต่าง ๆ โดยไม่ให้ถูกติดตามโดยรัฐได้ ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันสารเคมี ประยุกต์สิ่งของในชีวิตประจำวันเป็นเกราะกำบัง ใช้แอปพลิเคชั่นสื่อสารแบบเครือข่าย เป็นต้น

นอกจากการปรากฏตัวของเทคโนโลยีที่ใช้ต่อสู้ทางการเมือง ชื่อของ “โจชัว หว่อง” นักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย ก็ปรากฏขึ้นสู่สายตาชาวโลกเช่นกัน

“โจชัว หว่อง” เป็นวัยรุ่นที่กระโดดมาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้งแบบไม่เกรงกลัวใคร ตั้งแต่การคัดค้านหลักสูตรการศึกษาที่เขาบอกว่าเป็น “โฆษณาชวนเชื่อของจีน” จนมาถึงการเป็นเลขาธิการพรรคการเมืองในวัย 19 ปี

เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวในประเทศไทย ล่าสุด  “โจชัว หว่อง” พร้อม ส.ส.จากพรรคเดโมเครติกของฮ่องกง ได้ออกมาถือป้ายประท้วงรัฐบาลไทย บริเวณหน้าอาคารที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ไทย ประจำฮ่องกง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมคณะราษฎร ที่บริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา

โดย โจชัว หว่อง ถือป้ายที่มีข้อความว่า “พวกเราชาวฮ่องกงเป็นกำลังใจให้ผู้ประท้วง พวกเราจะร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการและผ่านมันไปด้วยกัน พวกเราจะยืนเคียงข้างคนไทย” และ “#StandWithThailand ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนนะครับ #พันธมิตรชานม”

ดูเหมือนว่าความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม จะไม่กลายเป็นกำแพงอีกต่อไป เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่มีจุดร่วมเดียวกันคือการปฏิรูปการเมือง โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นตัวทลายสิ่งกีดขวางและเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น