อ.เจษฎ์ อธิบาย เลขภูมิคุ้มกัน ซิโนแวก แอสตร้าฯ วัดประสิทธิภาพหรือไม่?

อ.เจษฎา อธิบายเลขภูมิคุ้มกัน

หลังกระทรวงสาธารณสุขเผยประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน 2 ยี่ห้อ อาจารยเจษฎา โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายละเอียด เรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนซิโนแวก-แอสตร้าเซนเนก้า 

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยผลการศึกษาประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนป้องกันโควิด 2 ยี่ห้อ ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวก หลังจากทยอยฉีดให้คนไทย (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วันที่ 14 พ.ค.64) ดังนี้

  1. แอสตร้าเซนเนก้า หลังฉีดเข็มแรกใน 4 สัปดาห์ พบผู้เข้ารับการฉีด 71 ราย จากทั้งหมด 73 ราย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึง 97.26%
  2. ซิโนแวก หลังฉีดเข็มที่สองใน 4 สัปดาห์ พบผู้เข้ารับการฉีด 196 ราย จากทั้งหมด 197 ราย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึง 99.49%

ต่อมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant(อาจารย์เจษฎ์) สร้างความเข้าใจกับประชาชน เรื่อง “การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนซิโนแวก และแอสตร้าเซนเนก้า” ระบุว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นจากการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ ไม่ใช่ประสิทธิภาพการป้องกันการมีอาการของโรคโควิด-19 ดังนี้…

ทำความเข้าใจให้ถูก เรื่อง “การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนซิโนแวก และแอสตราซิเนกา” ช่วงนี้เห็นคนแชร์รูปผลงานวิจัย ที่พูดถึงว่า หลังจากฉีดวัคซีนโรค covid-19 ของบริษัท sinovac และบริษัท astrazeneca ไปแล้ว มีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมาถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ !? โดยหลายคนไปเข้าใจว่าเป็นการยืนยันว่าวัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพดีมาก !

ช้าก่อนๆ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดีนะครับ ค่าเปอร์เซ็นที่ว่านั้น มัน “ไม่ใช่” vaccine efficacy ประสิทธิภาพประสิทธิผล ของการป้องกัน “การมีอาการของโรค” covid-19 เหมือนที่เราเคยอ่านกันมาก่อนหน้านี้ (ที่บอกว่า ผลการทดสอบ vaccine efficacy ระดับคลินิกเฟสที่ 3 ของซิโนแวค ออกมาค่อนข้างต่ำ , ของ astrazeneca ปานกลาง และของพวกไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า ค่อนข้างสูง)

สรุปสั้นๆว่า จริงๆ มันก็เป็นแค่วิธีการเช็คดูว่าวัคซีนมันพอได้ผลไหม ซึ่งยี่ห้อไหนๆ มันก็ทำได้ประมาณนี้แหละครับ (หรือดีกว่านี้ด้วยซ้ำ) ! ทำนองเดียวกับที่บอกว่า ผลการศึกษาวัคซีนซิโนแวค สามารถป้องกันเสียชีวิต ป้องกันการป่วยหนัก ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ .. มันก็ทุกยี่ห้อแหละครับ !

เรื่องนี้ผมได้ข้อมูลจากท่านอาจารย์ ศ. ดร. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ที่ให้รายละเอียดผลการศึกษามา และผมขอสรุปดังนี้นะครับ

  1. เค้าวัดระดับแอนติบอดี ต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด ของอาสาสมัคร คือ

– กลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ และไม่ได้ฉีดวัคซีน : เป็นชุดควบคุม ที่ไม่ควรมีแอนติบอดี้ต่อเชื้อโรค

– กลุ่มผู้ป่วย ที่เคยติดเชื้อโควิด : ดูว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้สร้างแอนติบอดีได้เท่าไร

– กลุ่มที่ฉีดวัคซีน “แอสตราซิเนกา” และวัคซีน “ซิโนแวค” : ดูปริมาณแอนติบอดี้ที่สร้างขึ้นหลังฉีด

  1. ผลการตรวจวัดระดับแอนติบอดี ออกมา คือ

– กลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ และไม่ได้ฉีดวัคซีน : ทุกราย ตรวจไม่พบแอนติบอดี้ (คิดเป็น 0%)

– กลุ่มที่เคยติดเชื้อ : ตรวจพบแอนติบอดี 243 ใน 263 ราย (92.4%) และมีปริมาณแอนติบอดี้เฉลี่ย 60.9 ยูนิต/มล. (ให้จำค่ากลางนี้ไว้)

– กลุ่มที่ฉีดวัคซีนของ “ซิโนแวก”

: หลังฉีดเข็มแรก ตรวจพบแอนติบอดี เพียง 124 ใน 188 ราย (คิดเป็นเพียง 65.96%) และมีปริมาณเฉลี่ย 1.9 ยูนิต/มล. (จะเห็นว่าน้อยกว่าค่ากลาง ที่ดูจากกลุ่มผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ มากๆๆๆ )

: หลังฉีดเข็มที่สอง ตรวจพบแอนติบอดี 196 ใน 197 ราย (99.49% หรือเกือบทุกคน) และมีปริมาณเฉลี่ย 85.9 ยูนิต/มล. (มีค่ามากกว่าค่ากลาง ที่ดูจากกลุ่มผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ)

– กลุ่มที่ฉีดวัคซีน “แอสตราซิเนกา”

: หลังฉีดเข็มแรก ตรวจพบแอนติบอดี 71 ใน 73 ราย (97.26%) และมีปริมาณเฉลี่ย 47.5 ยูนิต/มล. (จะเห็นว่ายังน้อยกว่าค่ากลาง ที่ดูจากกลุ่มผู้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ)

(เสียดายว่า ยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่ 2 เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีด)

  1. ดังนั้น สิ่งที่สรุปได้จากการทดลองนี้ ก็มีเพียงแค่ว่า

– ถ้าเราฉีดวัคซีนของ astrazeneca เพียงแค่เข็มแรก เข็มเดียว คนแทบทุกคนที่ได้รับวัคซีนไป จะมีภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสโรคโควิด .. แต่มีในปริมาณระดับนึง ยังไม่สูงเท่ากับคนที่ติดเชื้อโรคเองโดยธรรมชาติจะสร้างขึ้นมา (ซึ่งน่าจะพอคาดเดาได้ว่าเมื่อได้รับเข็มที่ 2 แล้วน่าจะมีปริมาณของแอนติบอดีสูงตามไปด้วย)

– ส่วนถ้าเราฉีดวัคซีนของ ซิโนแวค พึ่งระลึกเสมอว่า วัคซีนเข็มแรกแทบจะไม่ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันสูงเท่าไหร่เลย และไม่ใช่ทุกคนด้วยที่จะมีภูมิคุ้มกันขึ้น / ขณะที่หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 (และรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเต็มที่) จะการันตีได้ว่า แทบทุกคนต้องมีแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสแล้ว และมีปริมาณของภูมิคุ้มกันสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางของคนที่ติดเชื้อเองตามธรรมชาติด้วย

4. แต่อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ ก็ยังมีจุดบอดอยู่บ้าง เช่น จำนวนของอาสาสมัครที่ยังค่อนข้างน้อย สายพันธุ์ของเชื้อที่มาทดสอบซึ่งเป็นสายพันธุ์ไวรัสอู่ฮั่น ฯลฯ และที่สำคัญคือ ไม่ได้เอาไปเปรียบเทียบกับรายงานของการฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่น (ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด พวกวัคซีน mRNA นั้น ปริมาณแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้น จะสูงเกินกว่าระดับตามธรรมชาติ ไปหลายเท่าตัวมากกว่านี้)

สรุปอีกที่ว่า เห็นค่าตัวเลขที่เปิดเผยเอามานี้ แล้วอย่าแตกตื่น ตกใจ ดีใจอะไรกันครับ มันก็แค่การันตีว่า วัคซีนนี้น่าจะใช้สร้างภูมิคุ้มกันได้ (ถ้าฉีดซิโนแวคให้ครบ 2 โดส)

ปล. สิ่งที่เราคงได้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า คือ ศบค. เขาจึงเอาผลนี้ไปใช้อ้างในการที่จะระดมวัคซีน astrazeneca เพียงแค่เข็มเดียว ให้มากที่สุดทั่วประเทศไปก่อน แล้วเว้นระยะนานๆ (เช่น 2-3 เดือน) ค่อยมาฉีดเข็มที่ 2 ตาม ถ้าปริมาณวัคซีนที่เราได้รับมา มีจำนวนจำกัด

เพิ่มเติม : ข้อมูลของวัคซีน pfizer หากฉีดเข็มสอง (ระยะห่าง 3 สัปดาห์) จะมีภูมิขึ้นในระดับ 1000 ยูนิต/มล. (ชิโนแวคเทียบไม่ได้เลย) แล้วหากเข็มสองห่างออกไป 12 สัปดาห์จะมีภูมิในระดับ 4,000 ยูนิต/มล. (อ้างอิง https://www.birmingham.ac.uk/…/covid-pfizer-vaccination…)