เปิดประวัติ “Paper Planes” ในวันที่ “ทรงอย่างแบด” ฮิตติดปากวัยรุ่นฟันน้ำนม

Paper Planes
ที่มาภาพ เพจ Paper Planes

เปิดประวัติวงร็อกอัลเทอร์เนทีฟ “Paper Planes” แห่งค่าย Genie Records ความหมายและเส้นทางของเครื่องบินกระดาษลำนี้ ก่อนจะเป็นที่รู้จักด้วยเพลง “เสแสร้ง” และกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนมกับเพลง “ทรงอย่างแบด”

“Paper Planes” เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2560 กับบทเพลงแรก “ก่อนเสียเธอไป” จากโปรเจ็กต์อัลบั้ม Showroom Vol.3 ภายใต้สังกัด Genie Records ซึ่งตอนนั้นต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก

แรกเริ่มเดิมทีภายในวงประกอบไปด้วยสมาชิก 3 คนด้วยกัน ได้แก่ “ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ” “หยก-คีตเมศร์ ฉันทเกษมคุณ” และ “แจ๊ส-ฤทธิ์อำนาจ ขวานทอง” ก่อนที่ แจ๊ส กับ หยก จะลาออกจากวงไปด้วยเหตุผลส่วนตัว ทำให้วงมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาคือ “เซน-นครินทร์ ขุนภักดี”

ปัจจุบัน Paper Planes จึงมีสมาชิกทั้งหมด 2 คน คือ ฮาย ในตำแหน่งนักร้องนำ และ เซน ที่เป็นมือเบส

สำหรับ ฮาย ก่อนจะมาเป็นนักร้องนั้น เคยทำเบื้องหลังมาก่อน ด้วยการทำซาวนด์ให้วงร็อกอย่าง “Retrospect” ในเพลง หักหลัง และเป็นผู้มิกซ์เพลงให้ศิลปินดังมากมาย ทั้ง “นิทานหลอกเด็ก-Sweet Mullet” “สวัสดีเจ้า-COCKTAIL” และ “แสงสุดท้าย-เวอร์ชั่นศิลปิน G19” ก่อนได้เป็นโปรดิวเซอร์ในเพลง “อยู่ดี ๆ ก็…ของ Wonderframe”

ความหมายและที่มาของเครื่องบินกระดาษ “Paper Planes”

Paper Planes เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2562 ใน PaperPlanesOfficial ถึงความหมายและที่มาของชื่อวงว่า เด็ก ๆ ทุกคนเวลาเล่นกันมักจะมีความฝันว่าอยากขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดตอนนั้นคือการพับ “เครื่องบินกระดาษ” แล้วก็ปามันออกไป ในช่วงวัยเด็กเราจึงคุ้นเคยกับเครื่องบินกระดาษ มันน่าจะเป็นตัวแทนความฝันของเด็ก ๆ ได้ดี น่าจะเหมาะกับกลุ่มเด็กที่เดินตามความฝันไปพร้อม ๆ กัน

Paper Planes จึงกลายมาเป็นชื่อวง

แม้เด็กเหล่านั้น ๆ เราจะปาเครื่องบินไปคนละทิศละทาง แต่เมื่อโตขึ้นเราไปเจอคนที่มีความฝันเหมือนกันและพร้อมจะปาขึ้นไปบนท้องฟ้าเหมือนกัน นั่นคือความฝันของคนคนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะโตแค่ไหนก็ยังมีความเป็นเด็กอยู่ สื่อถึงเครื่องบินกระดาษที่ถูกปาขึ้นไป เนื่องจากอยากทำความฝันให้เป็นจริง

ความเป็นเด็กอาจมีความผิดพลาด ความไม่สมบูรณ์แบบ การไม่ยอมรับ หรือกรอบทางความคิดอะไรบางอย่าง แต่ก็มีข้อดีคือ ความเป็นธรรมชาติ ความจริงใจ ความสดใหม่ และความตื่นเต้นท้าทาย เครื่องบินกระดาษจึงเป็นความหมายของวงจริง ๆ อยากให้สิ่งนี้อยู่คู่กับวง นั่นคือกลุ่มเพื่อนที่มีความเป็นเด็กในตัวและมีฝันในทางเดียวกัน

Paper Planes
ที่มาภาพ เพจ Paper Planes

Paper Planes อาจจะไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นวงร็อกเสียทีเดียว แต่พวกเขามองว่าตนเองเป็นวงดนตรีวงหนึ่งที่มีความเป็นร็อก ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของดนตรี แต่เป็นร็อกในแง่ของเอเนอร์จี้ หรือพลังที่ส่งออกมาทางเพลง รวมถึงเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร

ส่วนมากแนวทางการทำเพลงของ Paper Planes วัตถุดิบหลักที่ใช้เขียนเนื้อร้องคือ ความผิดหวังจากผู้หญิง เป็นขี้แพ้เวลาเจอความรัก (loser) เพลงแบบช้ำ ๆ เพลงของคนแพ้ และเรื่องที่เกิดจากผู้หญิง จึงนำไปสู่อีพีอัลบัมแรกที่ใช้ชื่อว่า “Hers” ซึ่งประกอบไปด้วยเพลง ก่อนเสียเธอไป, ซ้ำซ้ำ, ไร้ความหมาย, ความคิดถึงที่ส่งไปไม่ถึง, เก็บฉันไว้ทำไม และคำตอบเดิม

เนื้อหาในเพลงของวงร็อกอัลเทอร์เนทีฟนี้ถูกสื่อออกมาผ่านมุมมองของการเป็นวัยรุ่น ซึ่งจะพูดในมุมที่วัยนี้เข้าใจความรักมากที่สุด แม้อาจจะไม่ได้เข้าใจเสียทีเดียวว่า เพราะอะไร แต่รู้ว่าเจ็บปวดมากเพียงใด

โด่งดังขีดสุดกับ “เสแสร้ง” และ “ทรงอย่างแบด”

Paper Planes
ที่มาภาพ เพจ Paper Planes

หลังจากเดบิวต์อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2560 Paper Planes ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการไล่ล่าความฝัน จนกระทั่งเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักเรียนมัธยมและมหา’ลัย กับเพลง “เสแสร้ง (Pretend)” ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยได้ศิลปินฮิปฮอปอย่าง “MOON” มาร่วมฟีเจอริ่ง เพียง 10 เดือน มียอดผู้เข้าชมบน YouTube ไปแล้วกว่า 101 ล้านครั้ง

ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน หลังจากได้กระแสตอบรับอย่างถล่มทลายกับเสแสร้งในเดือนตุลาคม 2565 Paper Planes ได้ปล่อยเพลงใหม่อย่าง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ออกมา ซึ่งมีท่อนฮุกที่ฮิตติดหูว่า “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย Bad Boy” ที่ตอนแรกตั้งใจจับกลุ่มเป้าหมายมัธยมปลายและมหา’ลัยเช่นเคย

Paper Planes
ที่มาภาพ เพจ Paper Planes

แต่ทรงอย่างแบดกลับได้ผลตอบรับที่ดีกว่านั้น เนื่องจากเพลงไปเข้าหูกลุ่ม “วัยรุ่นฟันน้ำนม” และร้องตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง แม้จะปล่อยเพลงออกมาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น แต่มียอดผู้เข้าชมบน YouTube ไปแล้วกว่า 44 ล้านครั้ง และเป็นอันดับที่ 50 ของ Global Top Music Video ใน YouTube เป็นที่เรียบร้อยแล้ว