
เปิดที่มาเรียกเก็บ “ภาษีความเค็ม” ทางออกแก้ปัญหาคนไทยสุขภาพแย่ ทำประเทศสูญเม็ดเงินทางเศรษฐกิจปีละ 1.6 ล้านล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาหารทุกประเภทที่ถูกปากคนไทยจะต้องตามเทรนด์กินแซ่บ-กินนัวที่ลุกลามไปทั่วประเทศ สังเกตได้จากอาหารที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดีย ล้วนแต่ต้องจัดเต็มในรสชาติ ทำให้คนไทยคุ้นชินกับการกินโซเดียมมากเกินความต้องการในแต่ละวันของร่างกาย
ทั้งจากร้านอาหาร, อาหารสำเร็จรูปและผงปรุงรสอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 1,300-2,000 มิลลิกรัมใน 1 ซอง ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวัน
หรือขนมขบเคี้ยวมากกว่าร้อยละ 90 มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับจากอาหารว่าง รวมถึงการทำอาหารเองในครัวเรือน ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคนี้ส่งผลให้คนไทยป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับโซเดียมเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยป่วยจากโรค NCDs ที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีรสชาติจัด หวาน มัน เค็มในปริมาณมากเกินไป กว่า 33 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 400,000 คน และข้อมูลที่น่าตกใจ คือ ผู้ป่วยโรคไตมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
ซึ่งการที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นสะท้อนไปยังการใช้งบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ในการรักษา ไม่น้อยกว่า 62,138 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายแฝงที่ต้องเสียจากการเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลในแต่ละครั้ง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละ 1.6 ล้านล้านบาท
แก้เกมคนไทยชอบกินเค็ม
จากตัวเลขที่สะท้อนการบริโภคเค็มแบบไม่พอดีของคนไทย เป็นที่มาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่แจกป้ายสัญลักษณ์ หรือประกาศนียบัตรแก่ร้านอาหารริมทาง (Street Food) และร้านอาหารที่มีสาขาทั่วไป (Chained/Franchise Food) เพื่อส่งเสริมให้มีอาหาร “ทางเลือกสุขภาพ” มากขึ้น และสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค
นอกจากการโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพของตัวเองแล้ว หนึ่งการจัดการของรัฐที่สามารถทำได้ คือ มาตรการจัดเก็บ “ภาษีความเค็ม” ที่ถูกกล่าวถึงในหลายประเทศ โดยจะการจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน เป็นแบบขั้นบันไดไล่ระดับตามความเค็ม
นอกจากนี้ยังเน้นไปการจัดเก็บในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจากประกาศล่าสุดระบุว่า จะเริ่มเก็บภาษีที่ขนมขบเคี้ยวก่อนในเฟสแรก และคาดว่าอาหารโซเดียมสูงประเภทอื่นอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, อาหารแปรรูป และซอสปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมสูงเช่นเดียวกัน อาจมีการจัดเก็บตามมาในภายหลัง
โดยการจัดเก็บภาษีความเค็มมีข้อคำนึงจาก กรมสรรพาสามิต ระบุว่า จะต้องจัดเก็บตามปริมาณโซเดียมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับสูตร, ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนการบริโภคสินค้าไปเป็นสินค้าทดแทน, การใช้มาตรการทางภาษีที่แตกต่างเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมสำหรับสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรัง
นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับคนไทย คือ ประชาชนลดการบริโภคโซเดียมลง 10% ภายใน 2 ปี และ 20% ภายใน 5 ปี และมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมสูงมีจำนวนลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยลดลง