อีกหนึ่งขั้นการรักษา! นักวิจัยอังกฤษคิดค้นกล้องมองทะลุผ่านร่างกาย เห็นอวัยวะภายในได้

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

บีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนากล้องที่สามารถมองทะลุผ่านร่างกายมนุษย์ได้ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอุปกรณ์การแพทย์อย่างกล้องเอนโดสโคป ระหว่างที่แพทย์กำลังทำการตรวจภายใน

โดยในปัจจุบันการติดตามการรักษาจะต้องพึ่งพาการสแกนที่มีราคาแพงอย่างเอ็กซเรย์ แต่สำหรับกล้องตัวใหม่นี้จะทำงานโดยการตรวจจับแหล่งกำเนิดแสงในร่างกาย เช่น ปลายท่อของกล้องเอนโดสโคปที่มีความยืดหยุ่นและมีแสงสว่าง

ศาสตราจารย์เคฟ ดาลิวัล แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวมีศักยภาพทำงานได้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือความสามารถในการมองเห็นตำแหน่งของอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษา

ทั้งนี้ ในการทดสอบเบื้องต้นพบว่าอุปกรณ์ตัวต้นแบบสามารถติดตามแสงผ่านเนื้อเยื่อหนา 20 เซนติเมตร ภายใต้สภาวะปกติ โดยลำแสงจากกล้องเอนโดสโคปสามารถทะลุผ่านร่างกายได้ แต่ปกติจะหักเหออกไปเนื่องจากแสงต้องเดินทางผ่านเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ ซึ่งทำให้มีปัญหาในการรับภาพตำแหน่งของเครื่องมือที่ชัดเจน

ขณะที่กล้องตัวใหม่นี้จะสามารถตรวจจับแต่ละอนุภาคที่เรียกว่าโฟตอนได้ ดังนั้น จึงสามารถจับแสงเล็กๆ น้อยๆ ที่เดินทางผ่านเนื้อเยื่อได้ นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกเวลาที่แสงเดินทางผ่านร่างกายได้ ซึ่งหมายถึงกล้องดังกล่าวสามารถทำงานได้ตรงกับที่กล้องเอนโดสโคปทำงานอยู่ โดยในการใช้งานจะตั้งอยู่ที่ข้างเตียงของผู้ป่วย

สำหรับโครงการดังกล่าวนำทีมวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเอดินเบอระและมหาวิทยาลัยเฮอริออท-วัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Proteus Interdisciplinary Research Collaboration ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคปอด

ดร.ไมเคิล แทนเนอร์ จากมหาวิทยาลัยเฮอริออท-วัตต์ กล่าวว่า “สิ่งที่ผมชื่นชอบในการทำงานครั้งนี้คือการได้ทำงานร่วมกันกับแพทย์เพื่อเข้าใจความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ จากนั้นก็มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงและวิทยาการทางด้านฟิลิกส์มาพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง”