
ยอด “ปอดอักเสบ” จากป่วยโควิดพุ่ง เช็กอาการ-ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวอย่างไร
วันที่ 21 มีนาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 23,441 ราย ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,153,975 ราย หายป่วยแล้ว 944,243 ราย และ เสียชีวิตสะสม 2,548 ราย
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- เปิดประวัติ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักการเมืองดัง ลูกเจ้าพ่อปากน้ำ
การรายงานช่วงหนึ่งระบุถึงจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบหรือผู้ป่วยหนัก รวมถึงผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ทิศทางยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะไม่มาก
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีทิศทางเพิ่มขึ้นชัดเจน และวันนี้ทำสถิติเสียชีวิตสูงสุด 88 ราย นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับอัตราการครองเตียงใน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวในโรงพยาบาล 10 จังหวัดแรก อัตราการครองเตียงยังอยู่ในระดับ 2-3 หรือสีเขียวอ่อนกับเขียวเข้ม ต่ำสุดอยู่ในระดับ 9.90% ที่ระยอง และสูงสุดอยู่ที่สุราษฎร์ธานี 45.60%
ขณะที่ กทม.แม้จะมีผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากที่สุด 193 ราย แต่อัตราการครองเตียงยังอยู่ในระดับ 31.40%
ขณะที่วานนี้ (20 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความกังวลถึงผู้ป่วยติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม หรือไม่ได้รับวัคซีน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 หรือได้รับวัคซีนครบสามารถลดการติดเชื้อและเสียชีวิตลงได้ นายกรัฐมนตรีจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว) ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน รวมไปถึงให้เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และฉีดวัคซีนสำหรับเด็กให้ทั่วถึงให้ได้มากที่สุด
ปอดอักเสบถูกทำลายจากโควิดอย่างไร
ในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่อาการทางระบบทางเดินหายใจยังไม่ค่อยเด่นชัดนัก แต่หากผ่านไปสักระยะหนึ่งประมาณวันที่ 3-4 ของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอ เหนื่อยหอบ แบบค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อผู้ป่วยได้รับการเอกซเรย์ปอด จะเริ่มเห็นความผิดปกติ พบฝ้าขาวเกิดขึ้นในปอดจากฟิล์มเอกซเรย์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องกังวล เนื่องจากผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการขาดออกซิเจนแล้วเกิดการอักเสบของปอดจนกลายเป็นปอดอักเสบในที่สุด
โดยทั่วไปแล้วลักษณะเฉพาะของคนที่เป็นโควิด-19 นั้น ปอดอักเสบจะเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยมักจะเกิดขึ้น 3-4 ตำแหน่ง และจะเป็นที่ปอดทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้ หากในระยะนี้รักษาได้ทันท่วงที ให้ยาที่เหมาะสม ทั้งยาต้านไวรัส ยาสเตอรอยด์ และยาอื่น ๆ
ปอดจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับไป จะมีอยู่ประมาณ 10% ที่จะเป็นปอดอักเสบรุนแรง และมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ปัจจัยที่ปอดถูกทำลาย
เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 จะเกิดปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากการอักเสบของปอด ทำให้มีพังผืดและแผลเป็นต่าง ๆ ในปอดตามมา ซึ่งจะมีมากน้อยแค่ไหน หรือสามารถฟื้นตัวหลังจากหายได้มากเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อหรือมีการติดเชื้อชนิดอื่นซ้ำซ้อนหรือไม่
พื้นฐานของสุขภาพร่างกายหรือระบบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเป็นอย่างไร และความเร็วในการให้การรักษาอย่างทันท่วงที
สภาพปอดหลังป่วยโควิด
เมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว การอักเสบของร่างกายอย่างรุนแรงจากเชื้อโควิด-19 จะมีผลทำให้เกิดเป็นรอยโรคพวกแผลเป็นหรือพังผืดต่าง ๆ ในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น และแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ค่อยดีนัก
หากตรวจวัดสมรรถภาพปอด จะพบว่าสมรรถภาพปอดต่ำกว่าปกติ ซึ่งหากอยู่เฉย ๆ อาจไม่ค่อยรู้สึก แต่หากต้องไปออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอะไรที่หนัก ๆ จะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก ในส่วนของการฟื้นตัวของปอดหลังหายจากโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงแรกคือ ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค สิ่งที่จะพบ คือ ยังพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ แต่มีปริมาณเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ติดเชื้อ
- ช่วงหลังคือ ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่หายจากโรค ร่างกายมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว แต่จะยังรู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า
วิธีฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย เนื้อปอดจะมีพังผืดและแผลเป็นเกิดขึ้น ในช่วงแรก ระบบการหายใจและสมรรถภาพของปอดนั้นจะยังไม่เป็นปกติ ทั้งนี้ สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้โดยให้มีการเคลื่อนไหวหรือขยับช่วงปอด เพื่อให้เนื้อปอดและถุงลมต่าง ๆ ค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวเองกลับมามีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อที่จะสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดังเดิม ดังนี้
- การฝึกการหายใจ
- การฝึกการหายใจนั้นจำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัว ทำได้โดยการออกแรงในการหายใจเข้าทางจมูกจนสุด แล้วควบคุมลมที่หายใจออกมาทางปากช้า ๆ หรือพูดคำว่า “อู” ยาว ๆ ช้า ๆ จนกระทั่งลมหมดปอด แล้วหายใจเข้าใหม่ให้เต็มปอดแล้วออกช้า ๆ
- การบริหารปอด
- ทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่เรียกว่า Triflow โดยให้คนไข้ดูดลูกปิงปองที่มีทั้งหมด 3 ลูก ใน 3 ช่อง ซึ่งจะลอยขึ้นกี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับปริมาณลมที่สูดเข้าไป ยิ่งสูดลมเข้าไปมาก ลูกปิงปองก็จะลอยขึ้นเยอะ การดูดลมเข้าปอดโดยใช้เครื่อง Triflow นั้นจึงถือเป็นเทคนิคการบริหารปอดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ปอดขยายเต็มที่ ช่วยให้ปอดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และค่อย ๆ ฟื้นตัวได้
- การออกกำลังกายเบา ๆ
- สามารถทำได้ในสัปดาห์ที่ 3-4 เป็นต้นไป ในช่วงนี้ร่างกายอาจจะยังมีการอ่อนเพลีย แต่ปอดอาจจะเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การลุกเดินบ่อย ๆ ไม่อยู่เฉย พอร่างกายเริ่มชินแล้วค่อยขยับความหนักขึ้นไป อาจจะเดินให้ไวขึ้น หรือวิ่ง jogging เบา ๆ ได้เช่นกัน
รู้จักโรคปอดอักเสบ
ข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ระบุว่า โรคปอดอักเสบ (Pneumonitis) หรือปอดบวม เป็นการอักเสบของเนื้อปอดที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะปอดอักเสบจากการติดเชื้อในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งบางครั้งการติดเชื้ออาจรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน
สาเหตุของโรคปอดอักเสบ
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปอดอักเสบสามารถเกิดได้ 2 สาเหตุ ดังนี้
- ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น สารเคมีที่ระเหยได้ ฝุ่นหรือควันที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ
- ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เกิดจากการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อราจากมูลสัตว์ และแบคทีเรีย ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ และสภาพแวดล้อมรอบตัว
อาการโรคปอดอักเสบ
อาการของโรคปอดบวมจะคล้ายคลึงกับการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- มีอาการไอ มีเสมหะ มีไข้ และหนาวสั่น
- ผู้ป่วยจะมีอาการหอบหายใจเร็ว และอาจได้ยินเสียงดังกรอบแกรบจากปอด
- มีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจ
- ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม และมีอุณหภูมิร่างการผิดปกติ
- เด็กเล็กอาจมีอาการไม่ดูดนมหรือน้ำ ท้องอืดและอาเจียน
การรักษาโรคปอดอักเสบ
- การรักษาอาการจำเพาะ พิจารณาให้ยาขยายหลอดลมในกรณีที่ผู้ป่วยมีเสียงดังที่ปอด ให้ยาขับเสมหะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้น้ำและอาหารอย่างเพียงพอ ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้แพทย์จะพิจารณาให้อาหารทางสายยางเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดทรวงอกเพื่อช่วยขับเอาเสมหะออกจากปอดได้ดีขึ้น
- การรักษาทั่วไป กรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัสแพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง โดยบำบัดทางระบบหายใจ เพราะไม่มียารักษา ส่วนในกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะ โดยจะเลือกใช้ยารักษาตามเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับ
ข้อมูลจากโรงพยาบาลสินแพทย์ระบุว่าอาการและความรุนแรงของโรคปอดอักเสบ จะแตกต่างกันไปในแต่ละรายบุคคล ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ได้รับ ภูมิต้านทาน อายุ และ สภาพร่างกายของแต่ละคน
ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวอย่างไร
ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ปอดอักเสบทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี และจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต