ชีวิตการเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด กับความล่าช้าของสาธารณสุขไทย

ชีวิตการเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด กับความล่าช้าของสาธารณสุขไทย
รายงาน

รีวิวชีวิตการเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อต้องเผชิญกับการป่วยบนความล่าช้าของระบบสาธารณสุขไทย

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2562 ระยะเวลากว่า 2 ปี เชื้อร้ายคร่าผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 6 ล้านราย (ข้อมูล ณ 17 มี.ค. 2565)

ส่วนประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 3 ล้านราย และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2 หมื่นคน

โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนมีนาคม 2565 มีผู้ติดเชื้อยืนยันจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาล พุ่งสูง 20,000 ราย ไม่รวมผู้ติดเชื้อจากการตรวจหาเชื้อจากชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK อีกจำนวนหลักหมื่นเช่นเดียวกัน

ในจำนวนผู้ป่วยหลายหมื่นของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวจากประชาชาติธุรกิจ ติดเชื้อโควิด-19 และรีวิวการเป็นผู้ป่วยโควิด ที่ต้องเผชิญกับการป่วยติดเชื้อครั้งแรก รวมถึงพบอุปสรรคจากความล่าช้าทางสาธารณสุขของประเทศไทย

การป่วยโควิด-19 ครั้งนี้ ผู้เขียนติดเชื้อจากคนในครอบครัวซึ่งอยู่รวมกัน 3 คน และติดเชื้อทั้ง 3 คน เป็นผู้ป่วยมีอาการ 3 คน เข้ารักษาแบบระบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) จำนวน 2 ราย และระบบ Hospitel จำนวน 1 ราย

ADVERTISMENT

การติดเชื้อครั้งนี้เป็นการติดเชื้อแบบมีอาการ ทั้งปวดไข้ ไอ มีเสมหะ กลิ่นรับรสใช้งานไม่ได้ 

1330 ระบบช้า คนป่วยจะตายกันหมด

เมื่อทราบผลคนในครอบครัวมีผลตรวจโควิดว่าเป็นบวก (ติดเชื้อ) แล้ว จึงติดต่อไปยัง 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข ทั้งการโทรศัพท์ และการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ทันที 

ADVERTISMENT

การโทรศัพท์ผ่าน 1330 เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีจำนวนมาก ทำให้โทรศัพท์ติดได้ยาก รวมถึงต้องใช้เวลาในการรอค่อนข้างนาน หลังจากที่ 1330 รับข้อมูลส่วนตัวไปแล้ว ทางคอลเซ็นเตอร์ได้แจ้งว่า ในเวลา 6 ชั่วโมง หากไม่มีการติดต่อกลับมา ให้ติดต่อที่หมายเลข 1330 อีกครั้ง 

เมื่อเวลาผ่านไป 6 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับการติดต่อจากใครใด ๆ ทั้งสิ้น จึงตัดสินใจติดต่อ 1330 กลับไปอีกครั้ง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าการลงทะเบียน แต่กลับได้รับคำตอบว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถทราบสถานะการเข้ารักษาได้

จากนั้นจึงตัดสินใจไปรับการตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านประชาชื่น โดยเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 2,000 บาท  ซึ่งผลการออกเป็นดังที่คาดการณ์ไว้

จึงได้ขอรับยาเพื่อกักตัวที่บ้าน ทางโรงพยาบาลได้แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายยาให้ได้ เนื่องจากได้มีการลงทะเบียนผ่าน 1330 ไว้แล้ว ต้องรับยาที่ลงทะเบียนผ่าน 1330 เท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ ได้ ต้องกลับไปรอรับยาที่บ้าน  

จากนั้นมีมิตรสหายได้เสนอช่องทางในการรับยาและเข้าสู่ระบบการกักตัวที่บ้าน โดยให้รับยาผ่านโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล โรงพยาบาลเอกชนย่านปากเกร็ด นนทบุรี จึงได้รับยา อาหาร และการรักษาจากโรงพยาบาลนั้น และมีแพทย์รวมถึงบุคลากรโทรศัพท์ถามไถ่อาการของผู้ป่วยในทุกวันจวบจนหายดี

ย้อนกลับไปที่การลงทะเบียนผ่าน 1330 ของกระทรวงสาธารณสุขได้โทรศัพท์กลับมาอีกครั้งหลังจากติดเชื้อ 8 วัน เป็นอนามัยในพื้นที่สอบถามเกี่ยวกับการป่วยครั้งนี้ โดยผู้ติดเชื้อโควิดได้แจ้งเพียงว่า “มีการติดเชื้อ เข้ารับการรักษาและใกล้จะหายดีแล้ว”

ลมหายใจเดียวกัน ปตท. “เจอแจกจบ” ง่าย

หลังจากคนแรกพบเชื้อได้ 2 วัน คนที่ 2 ได้ติดเชื้อจากการใกล้ชิดจากคนแรก แม้จะมีการแยกห้องกันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการติดเชื้ออยู่ดี การป่วยครั้งนี้มาพร้อมอาการต่าง ๆ ทั้งมีไข้ ไอ หนาวสั่น รวมถึงมีน้ำมูก หายใจยากลำบาก

หลังจากมีอาการรู้สึกไม่สบายตัวในช่วงค่ำของวันนั้นได้ทำการตรวจผ่านชุดตรวจ ATK ผลออกมาเป็น 2 ขีด เป็นการยืนยันว่าพบเชื้อโควิด-19 เราทำการติดต่อไปยัง 1330 ทั้งการโทรศัพท์ และการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เช่นเดิม โทรศัพท์ไปที่ 1330 แต่ไม่มีผู้รับสาย จึงได้เข้าไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์ไว้ก่อน

จากนั้นเราได้แจ้งที่ทำงานว่าต้องดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้ ต้นสังกัดได้แนะนำให้เข้ารับการตรวจผ่าน “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ของกลุ่ม ปตท. ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท ที่เปิดจุดให้บริการตรวจโควิด-19 “ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น” ณ อาคาร Enco Terminal ดอนเมือง

เช้าวันถัดมาได้เดินทางไปถึงสถานที่ตรวจ อาคาร Enco Terminal แถวดอนเมือง สถานที่ค่อนข้างใหญ่ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. มีผู้ใช้บริการไม่เยอะ ใช้เวลาการจัดการไม่นาน มีการแยกผู้ป่วยพบเชื้อและผู้เสี่ยงสูงออกอย่างชัดเจน

ในส่วนของผู้ป่วยที่มีผลบวกทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า การตรวจหาเชื้อของโครงการเป็นการตรวจหาเชื้อแบบ ATK หากผลเชื้อเป็นบวก จะทำการคัดผู้ป่วยเข้าระบบ “เจอ แจก จบ” ซึ่งเป็นรูปแบบการรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกของกระทรวงสาธารณสุข โดยแจกยาตามอาการ และผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

แฟ้มภาพ : สถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด -19 ผ่าน “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ของกลุ่มปตท. ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท ที่เปิดณ อาคาร Enco Terminal ดอนเมือง
แฟ้มภาพ : สถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด -19 ผ่าน “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ของกลุ่ม ปตท. ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท ณ อาคาร Enco Terminal ดอนเมือง

เมื่อไปถึงเวลา 07.30 น.โดยประมาณ มีผู้ใช้บริการจำนวนน้อย ใช้รอไม่นานเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแทพย์เดินทางมาถึง ในเวลา 08.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าระบบการตรวจหาเชื้อของที่นี่เป็นการตรวจด้วยระบบ ATK หากพบเชื้อยินดี ต้องพร้อมที่จะเข้ารับการรักษาแบบกักตัวที่บ้านได้

ไม่มีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ใด ๆ ทั้งสิ้น หากผู้ติดเชื้อต้องการผลเพื่อนำไปรับเงินประกันติดเชื้อ จะไม่สามารถทำได้ เป็นการตรวจหาเชื้อเพื่อคัดผู้ป่วยเข้าระบบ “เจอ แจก จบ” เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบระบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ที่จัดไว้ให้ 

เจ้าหน้าที่จะขอดูผลตรวจ ATK เบื้องต้น (ให้ถ่ายรูปคู่ผลตรวจ ATK กับบัตรประจำตัวประชาชน) จากนั้นจะให้กรอกข้อมูลต่าง ๆ ของเรา เมื่อกรอกเสร็จให้ทำการรอเรียกคิวเพื่อตรวจหาเชื้อโดยเจ้าหน้าที่อีกครั้ง

เมื่อตรวจหาเชื้อเรียบร้อย จากนั้นให้เราไปนั่งรอที่สถานที่จัดไว้ให้ โดยใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที ผลออกมาเป็นบวก เจ้าหน้าที่จะให้เราเข้าสู่ระบบคัดกรองอีกครั้ง เพื่อยื่นความประสงค์เข้ารับการรักษาแบบใด จะเลือกแยกกักตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเราสามารถเลือกได้ โดยเรายื่นขอเข้ารับการรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน

จากนั้นเจ้าหน้าที่จำทำการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ของเรา เพื่อนำรายชื่อเข้าระบบ โดยเราสามารถเข้าระบบได้โดยชื่อผู้ใช้เป็นหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านเป็นหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเรา เจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งว่า ยาและอาหารจะมาในวันถัดไป

ตัวอย่างยาสมุนไพรที่รับประทานช่วงโควิด
ตัวอย่างยาสมุนไพรที่รับประทานช่วงโควิด ก่อนยาจากโรงพยาบาลมาถึง ทั้งฟ้าทะลายโจร, 5 ราก, จันทลีลา

ตลอดช่วงเวลาการป่วยครั้งนี้ ในช่วงแรกเป็นช่วงที่ยากลำบากจากอาการป่วยที่หนัก และยาที่แพทย์จัดมาให้ยังเดินทางมาไม่ถึง รับประทานเพียงยาสมุนไพรที่มิตรสหายหามาให้ ทั้งฟ้าทะลายโจร, 5 ราก, จันทลีลา, แต่อาการยังทรง ๆ ที่มีหวัด ทั้งไข้ และไอในเวลาเดียวกัน ในเวลากลางคืนไม่สามารถนอนหลับท่านอนราบได้ ต้องนอนในท่านั่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นหวัดมีน้ำมูกจำนวนมาก ทำให้หายใจไม่สะดวก จึงทำให้การนอนหลับได้เป็นเรื่องที่ลำบาก

ตัวอย่างอาหารบางส่วนที่โรงพยาบาลจัดส่งมาให้วันละ 3 มื้อ
ตัวอย่างอาหารบางส่วนที่โรงพยาบาลจัดส่งมาให้วันละ 3 มื้อ

วันถัดมาตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะมีอาหารและยาไปส่งตามที่อยู่ที่เราได้แจ้งไว้ ซึ่งอาหารมาในวันนั้นที่มีการแจ้งจริง ๆ ขณะที่ยายังเดินทางมาไม่ถึง ในวันนั้นคุณหมอจากโรงพยาบาลได้โทรศัพท์มาถามอาการ โดยแจ้งว่ามีการจัดยาให้ตามอาการป่วยให้แล้ว ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาแก้หวัด เราได้แจ้งกลับไปว่ายังไม่ได้รับยา ได้รับเพียงอาหารเท่านั้น

ตัวอย่างยาที่แพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท ได้จัดสำหรับผู้ป่วยให้ ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาแก้หวัด
ตัวอย่างยาที่แพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท ได้จัดให้สำหรับผู้ป่วย ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาแก้หวัด

อาการป่วยเข้าสู่วันที่ 4 ช่วงสายของวัน เวลา 10.00 น. โดยประมาณ มีเสียงโทรศัพท์จากคนส่งอาหารแจ้งว่านำอาหาร 3 มื้อ พร้อมยามาให้แล้ว หลังจากได้รับยา ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ครั้งละ 9 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้ง จากนั้นเป็นครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง และรักษาตัวเองมาเรื่อย ๆ กินยา กินอาหารตามเวลาที่แพทย์กำหนด อาการป่วยก็ดีขึ้นตามลำดับ ตอนนี้เหลือเพียงอาการไอเท่านั้น ก่อนที่ตรวจผล ATK อีกรอบเป็นลบ หลังจากครบกำหนดการกักตัว แพทย์จะมาถามตรวจอาการผู้ป่วยอีกครั้ง ก่อนที่จะอนุญาตให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

ตัวอย่างยาฟาวิพิราเวียร์ รับประทานครั้งละ 9 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงจำนวน 2 ครั้ง
ตัวอย่างยาฟาวิพิราเวียร์ รับประทานครั้งละ 9 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ดจนกว่ายาจะหมด

ขณะที่อีกคนที่ป่วยได้เข้ารับการรักษากับที่โครงการลมหายใจเดียวกันเช่นกัน แต่เนื่องด้วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม วินาทีแรกที่รู้ว่าต้องไปโรงพยาบาลสนาม ได้มีการคาดเดากันว่าเหมือนที่เคยออกข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ บนเว็บไซต์ออนไลน์ รู้สึกกลัวโรงพยาบาลสนาม แต่เมื่อไปถึงเป็น Hospitel โรงแรมอย่างดี จนรักษาตัวและกลับมากักตัวต่อที่บ้านอีก 3 วัน 

ตลอดระยะเวลาการป่วยโควิด-19 ครั้งนี้ วินาทีแรกที่ทราบผลตรวจ มีความกังวลอย่างมาก กับการป่วยเป็นโรคติดเชื้ออันร้ายแรง ที่สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ได้รับความรัก ความห่วงใย จากครอบครัว เพื่อน ๆ มิตรสหาย ที่เข้ามาถามไถ่อาการอยู่เสมอ เนื่องด้วยยาที่ช้ากว่ากำหนด รวมถึงส่งสิ่งของที่จำเป็น อาหารแห้งต่าง ๆ ได้รับน้ำใจมากมายจากทุกคน ทำให้มองเรื่องแย่ ๆ ให้เป็นเรื่องที่ดี ในขณะที่ต้องเผชิญชีวิตกับช่วงเวลาอันยากลำบาก