Quiet Quitting คืออะไร ทำไมคนรุ่นใหม่ ไม่เชื่อว่า “ทำงานหนักแล้วจะได้ดี”

Quiet Quitting คืออะไร

ทำความรู้จัก Quiet Quitting คำศัพท์ใหม่ กับความเชื่อ “ทำงานหนักแล้วจะได้ดี” ที่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่ออีกแล้ว

โลกของการทำงานยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า เปลี่ยนแปลงไปเยอะกว่าเมื่อก่อน ทั้งภาระงานที่เพิ่มขึ้น และความเครียด ความกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งกับเวลาและสภาวะรอบตัว สิ่งเหล่านี้ย่อมสามารถสะสมและทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะเหล่าคนทำงานรุ่นใหม่ ที่เจอกับการทำงานหนักจนเลิกความคิดที่จะทำงานหนักแล้วได้ดี แล้วเปลี่ยนเป็นทำงานตามหน้าที่แทน

จากปรากฏการณ์นี้ กลายมาเป็นคำศัพท์ใหม่ว่า “Quiet Quitting” ซึ่งไม่ได้แปลว่าการลาออกโดยทีเดียว และไม่ได้แปลว่า “ลาออกแบบเงียบ ๆ” แต่หมายถึงการล้มเลิกความคิดทะเยอทะยาน ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะเติบโตในอาชีพแบบคนสมัยก่อนแล้ว

โดยคนที่อยู่ในภาวะ Quiet Quitting ยังทำงานเก่ง มีความสามารถที่ดีเหมือนเดิม แต่เลิกที่จะทุ่มเทเพื่อองค์กร แล้วเลือกที่จะทำงานตามหน้าที่ ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

จุดเริ่มต้นปรากฏการณ์ Quiet Quitting

Quiet Quitting เป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์ครั้งแรก ๆ โดยผู้ใช้ TikTok ที่ชื่อ @zaidleppelin ซึ่งโพสต์คลิปเล่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเวลา 17 วินาที ปัจจุบันมีผู้ชมแล้วกว่า 3.4 ล้านครั้ง (ณ วันที่ 26 ส.ค. 2565) และผู้ชมเข้ามาแชร์ความคิดเห็นและประสบการณ์เป็นจำนวนมาก รวมถึงผู้ใช้ TikTok คนอื่น ๆ ได้แชร์เรื่องราวผ่านแฮชแท็ก #QuietQuitting

Kathy Kacher ผู้ก่อตั้ง Career/Life Alliance Services ให้สัมภาษณ์กับ The Washington Post ว่า Quiet Quitting เป็นคำศัพท์ใหม่ก็จริง แต่เป็นคำใหม่ที่บอกเล่าแนวคิดเดิมที่ว่า “พนักงานขาดการมีส่วนร่วมในงาน” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ถัดจากภาวะ Great Resignation เมื่อปลายปี 2564 ที่มีพนักงานลาออกเฉลี่ยเดือนละ 4 ล้านคน จากการถูกเรียกกลับเข้าออฟฟิศ รวมถึงปัญหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่คล้ายกัน คือ Lying Flat ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ Quiet Quitting ที่คนชนชั้นกลางในจีนเจอสารพัดปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตส่วนตัวรุมเร้า จนหมดความทะเยอทะยานที่จะเติบโต มีชีวิตที่ดี มีฐานะทางสังคมที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน

นายจ้างและคนทำงาน จะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร ?

การเลือกทำงานเท่าที่จำเป็น แม้จะเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของเรา แต่บางสถานการณ์ก็ทำให้จำใจต้องจัดการงานนั้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วคนทำงานและนายจ้าง จะจัดการและป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร ?

มุมของคนทำงาน วิธีการจัดการที่ง่ายที่สุด คือ การจัดลำดับความสำคัญและบริหารจัดการงานในมือ เพราะการไม่ประเมินและจัดลำดับความสำคัญ อาจทำให้เกิดปัญหากับการทำงานและการจัดการงานได้ สิ่งนี้สามารถทำได้หลายทาง ตั้งแต่การจัดลำดับความด่วนของงานในมือ พักผ่อนเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า ปฏิเสธเมื่อรู้สึกจัดการงานดังกล่าวไม่ไหว และขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานเมื่อเกิดปัญหา

ขณะที่หัวหน้างานเอง อาจต้องเข้าไปสอบถามคนทำงานบ่อย ๆ ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรที่อยากให้องค์กรช่วยเหลือ รวมถึงสังเกตการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต หรือหากพนักงานมีปัญหาอะไร ต้องไม่ปิดกั้นที่จะให้พนักงานเข้ามาเล่าเรื่องราวให้ฟังด้วยตนเอง


สุดท้ายแล้ว ปัญหา Quiet Quitting จะคลี่คลายลงได้ ต้องมาจากการร่วมกันหาทางออก เพื่อให้คนทำงานยังทำงานต่อได้อย่างมีความสุข และบริษัทยังสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างไม่สะดุด