สมองมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานหลังเที่ยงคืน

แนวคิดใหม่ในเรื่องการนอนหลับ ชี้ว่าคนเราไม่ควรตื่นอยู่หลังเวลาเที่ยงคืน เพราะการทำงานของสมองจะแปรปรวน จนความคิดด้านมืดและอารมณ์เชิงลบเข้าครอบงำได้ง่าย

แนวคิดล่าสุดดังกล่าวเพิ่งมีการนำเสนอในวารสาร Frontiers in Network Psychology โดยใช้ชื่อว่า “สมมติฐานเรื่องความคิดจิตใจหลังเที่ยงคืน” (Mind after Midnight Hypothesis) ซึ่งทีมนักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากหลายสถาบันในสหรัฐฯ เป็นผู้ทำการศึกษา

รูปคนนอนกุมหัวตอนตีสอง

ที่มาของภาพ, Getty Images

โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าอวัยวะต่าง ๆ มีการทำงานตามวงจรนาฬิการ่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองซึ่งส่งผลต่อความคิดจิตใจด้วยนั้น จะตื่นตัวและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลากลางวัน ซึ่งในเชิงวิวัฒนาการแล้วเป็นเวลาที่มนุษย์ต้องออกล่าหาอาหาร

สิ่งนี้ทำให้สมองทำงานต่างออกไปในเวลากลางคืน โดยระดับโมเลกุลและคลื่นสัญญาณต่าง ๆ จะแปรปรวนไปจากเดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และไม่เป็นประโยชน์ต่อความอยู่รอดได้ เช่นเกิดอยากกินอาหารขยะ อยากใช้ยาเสพติด เกิดความคิดที่เสี่ยงอันตราย อารมณ์หดหู่หม่นหมองจนอยากทำร้ายตัวเองเป็นต้น

สมมติฐานเรื่องความคิดจิตใจหลังเที่ยงคืนมองว่า สมองที่ถูกบังคับให้ตื่นอยู่ในเวลาดึกดื่นซึ่งไม่ใช่เวลาทำงานตามปกติของมัน จะทำให้คนนอนดึกหรืออดนอนสะสมตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้านมืดและอารมณ์เชิงลบไวยิ่งขึ้นกว่าเก่า โดยการที่สมองทำงานผิดเวลาจะส่งผลกระทบต่อระบบการให้รางวัลจากศูนย์สร้างความสุขในสมอง

รูปผู้หญิงลุกนั่งกลางดึก

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร. เอลิซาเบธ เคลอร์แมน หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่าควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ระหว่างการนอนดึกหรือนอนไม่หลับกับการฆ่าตัวตาย การทำร้ายตนเอง รวมทั้งพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยต่าง ๆ

งานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ชี้ว่า ผู้ใช้ยาเสพติดอย่างเช่นเฮโรอีนสามารถควบคุมความอยากเสพยาของตนเองได้ดีในเวลากลางวัน แต่มักพ่ายแพ้ต่อความต้องการดังกล่าวในเวลากลางคืน ส่วนคนที่นอนไม่หลับติดต่อกันหลายคืนจะมีอาการหดหู่ซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยวและสิ้นหวังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งช่วงเวลาระหว่างเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้านั้น มีเหตุฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมากกว่าเวลาอื่นของวันถึง 3 เท่า

งานวิจัยของบราซิลเมื่อปี 2020 พบว่ามีการใช้ยาเสพติดและยาแก้ปวดจำพวกโอปิออยด์เกินขนาดในเวลากลางคืน ในอัตราที่สูงกว่าตอนกลางวันเกือบ 5 เท่า ส่วนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JCSM ปี 2020 ชี้ว่าการนอนดึกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งเรื่องนี้อาจเกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติเพราะนาฬิการ่างกายรวน

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว