แนวโน้มคนไทยหมดไฟในการทำงาน รัฐวิสาหกิจ-เอกชนสูงสุด เกิน 70%

สภาพัฒน์ พบแนวโน้มคนไทยหมดไฟในการทำงาน กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนสูงสุด เกิน 70%

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565 เกี่ยวสถานการณ์ด้านแรงงาน พบว่า ระยะถัดไปมีแนวโน้มพบปัญหาคนไทยกำลังหมดไฟในการทำงาน

แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามสถานการณ์แรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และลาออกจากงานมากขึ้น

สาเหตุหลักของภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้แก่ ภาระงานหนัก เครื่องมือการสนับสนุนในการทำงานที่ไม่เหมาะสม หัวหน้างานที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่รับฟังความคิดเห็น และโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น

ผลสำรวจของ The Adecco Group ตามรายงานเรื่อง Resetting Normal : Defining the New Era of Work 2021 พบว่า พนักงานทั่วโลกมากกว่า 4 ใน 10 มีภาวะหมดไฟ สอดคล้องกับการสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ เอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) ที่สำรวจ SMEs จำนวน 1,363 แห่ง จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น ในจำนวนนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย จำนวน 207 แห่ง ระหว่างปี 2564-2565 พบว่า พนักงานเอสเอ็มอีไทยกว่า 47% ลาออกมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่

ด้านผลศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2562 สำรวจวัยแรงงานในกรุงเทพฯ จำนวน 1,280 คน พบว่า 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน และ 57% มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ

กลุ่มอาชีพที่มีภาวะหมดไฟมากที่สุด ได้แก่ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 77% บริษัทเอกชน 73% ข้าราชการ 58%ธุรกิจส่วนตัว 48%


สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา นายจ้าง องค์กรต่าง ๆ อาจต้องกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์ และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ต้องเร่งสร้างระบบนิเวศในการทำงานใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงานต่อไป