กุนขแมร์ กับ มวยไทย กีฬาไหนจะได้แข่งขันในซีเกมส์ กัมพูชา 2023

กุน ขแมร์

กุนขแมร์กับมวยไทย กีฬาไหนได้แข่งขันในซีเกมส์ กัมพูชา 2023

วันที่ 31 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงเป็นกระแสดราม่าข้ามประเทศระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา สำหรับมวยเขมร หรือ “กุนขแมร์” ศิลปะการป้องกันตัวของประเทศกัมพูชา จากกรณีที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ของกัมพูชา ได้ประกาศบรรจุ มวยเขมร หรือ “กุนขแมร์” ลงในการแข่งขันโดยระบุว่าเป็นกีฬาประจำชาติกัมพูชา ส่งผลให้ประเทศไทย ประกาศไม่ส่งทีมนักกีฬาลงแข่งขันในประเภทนี้

“กุนขแมร์” คืออะไร

กุนขแมร์ หรือ มวยเขมร เป็นกีฬาที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศกัมพูชา มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Kbach Kun Pradal Khmer มีความหมายว่า เป็นศิลปะการต่อสู้ท่ายืนโดยมีเป้าหมายเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้ หรือการชนะคะแนน อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานการยืนยันว่าการพัฒนาแบบแผนศิลปะป้องกันตัวชนิดนี้มาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของกัมพูชา โดยใช้อวัยวะ 4 อย่างเป็นอาวุธในการต่อสู้ ประกอบด้วย หมัด เท้า เข่า ศอก โดยนักสู้ชาวกัมพูชามักจะใช้ศอกโจมตีมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม กัมพูชายังมีศิลปะการต่อสู้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก มีชื่อเรียกว่า “กุน ลโบกาตอร์” ซึ่งขึ้นทะเบียนไป เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยป็น 1 ใน 22 มรดกภูมิปัญญาอื่น ๆ ที่ได้นับการขึ้นทะเบียน

โดย กุน ลโบกาตอร์ เป็นศิลปะป้องกันตัวที่ชาวกัมพูชาพัฒนามาเพื่อใช้ป้องกันตัวจากสัตว์ป่า โดยมีบันทึกหลักฐานท่าทางการต่อสู้ในวัดที่สร้างในศตวรรษที่ 7 ตามคำบอกเล่าของสาน คึมสาน นักมวยเขมร

กุน ลโบกาตอร์ เป็นศิลปะการป้องกันตัวที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสร้างนครวัด และกล่าวกันว่าครั้งหนึ่งเคยฝึกโดยกองทัพของ อาณาจักรพระนคร เชื่อว่าส่วนหนึ่งของความแข็งแกร่งของอาณาจักรนครวัดที่ได้ปกครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาและได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์อังกอร์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในปลายศตวรรษที่ 12

มวยเขมร กับ มวยไทยแตกต่างกันอย่างไร

จากข้อมูล UNESCO Bangkok ระบุข้อมูลถึงความแตกต่างของ ศิลปะการต่อสู้ กุน ลโบกาตอร์ มวยเขมร แตกต่างกับมวยไทยอย่างไร ว่า “เป็นศิลปะที่มีความคล้ายคลึงกันกับมวยไทยและมวยลาว” ทั้งนี้ ศิลปะเหล่านี้สืบต่อมาจากเหล่าอาณาจักรโบราณที่ผสมผสานเชื้อชาติและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันมาช้านานหลายศตวรรษ

สำหรับมวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมานาน เป็นทั้งการต่อสู้ป้องกันตัวและกีฬา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด แต่ถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยเช่นเดียวกับกังฟูของจีน ยูโดและคาราเต้ของญี่ปุ่น และเทควันโดของเกาหลี

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มวยไทยได้พัฒนามากขึ้น มีการชกมวยแบบสวมนวมชก และนับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก นักมวยแต่งกายตามมุม คือ มุมแดง และมุมน้ำเงิน เช่นเดียวกับการชกมวยสากล มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย

ก่อนหน้านี้ ทางสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) ก็ประกาศยืนยันชัดเจนว่า กีฬามวยไทยและคิกบ็อกซิ่งในซีเกมส์ จะต้องใช้ชื่อ “มวย” เท่านั้น พร้อมประกาศย้ำด้วยว่า หากชาติใดส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันรายการดังกล่าวก็จะถูกแบนจากแมตช์ที่ อีฟม่า รับรองแน่ ๆ

สุดท้ายเจ้าภาพจัดการต่อ มนตรีซีเกมส์จะไม่ก้าวล่วง

ล่าสุด นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ พร้อมด้วย ศ.(พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน และ นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะมนตรีซีเกมส์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการแข่งขันกีฬามวยไทย ในชื่อ “กุนขแมร์” ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ถนนศรีอยุธยา

ศ.(พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วประเทศใดก็ตามที่เป็นเจ้าภาพควรจะยึดธรรมนูญซีเกมส์เป็นบรรทัดฐานในการจัดการแข่งขัน ซึ่งในธรรมนูญซีเกมส์ยืนยันชัดเจนว่า กีฬาใด ๆ ที่จะจัดการแข่งขันจะต้องได้รับการรับรองจากสหพันธ์ที่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) หรือสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ)

แต่สหพันธ์กุนขแมร์นานาชาติ (เคไอเอฟ) ไม่มีหลักฐานการรับรองจากทั้งสองคณะกรรมการใด ๆ เรื่องนี้ได้มีการแย้งและลงบันทึกในที่ประชุมมนตรีซีเกมส์ไปแล้ว แต่ถ้าสุดท้ายเจ้าภาพจะยังต้องการจัดต่อ ทางมนตรีซีเกมส์ก็ไม่เข้าไปก้าวล่วงเจ้าภาพแต่อย่างใด