ปิดฉากประชุม รมต.ท่องเที่ยวเอเปค ไม่สามารถหาฉันทามติในถ้อยแถลงได้

ปิดฉากการประชุม รมต.ท่องเที่ยวเอเปค เผยมี “บางชาติ” แสดงความกังวลต่อข้อความ “สันติภาพและความมั่นคง” ทำให้ไม่สามารถหาฉันทามติในถ้อยแถลงได้

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะมุ่งสร้างสรรค์และฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม และเกิดการฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของทุกภาคส่วน

โดยในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวได้มีการรายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563-2567 การหารือแนวทางความร่วมมือของเอเปคเพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงหลังโควิด-19 และบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค

ที่ประชุมยังแสดงความกังวลเรื่องโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ และความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

ตลอดระยะเวลาการประชุม ทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันเจรจาร่างถ้อยแถลง และสามารถบรรลุฉันทามติได้ในทุกย่อหน้า ยกเว้นเพียงย่อหน้าเดียวที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่สามารถหาฉันทามติกันได้ จึงได้ผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงประธาน (Chair’s Statement)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่หาฉันทามติร่วมกันไม่ได้ เกิดจาก “บางประเทศ” ไม่เห็นด้วยข้อความที่เกี่ยวข้องกับ “สันติภาพและความมั่นคง” (Peace and Stability) ไทยจึงใช้สิทธิฐานะประธาน ออกถ้อยแถลงประธาน (Chair’s Statements) แทน

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ สามารถรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่

  1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน
  2. คู่มือเอเปคสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ฉบับปรับปรุง

ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับนี้ เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของเอเปคในปีนี้ ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเป็นก้าวสำคัญของเอเปคในการก้าวไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และเพื่อให้ชาติสมาชิกทำงานต่อไปข้างหน้า


สำหรับผลลัพธ์ที่ไทยคาดหวังว่าจะได้รับจากการนำเสนอแนวคิดนี้ คือ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง