ไทยเวียตเจ็ท ขอคมนาคมทำบริการภาคพื้นเอง ตั้งงบฯลงทุน 400 ล้าน

ไทยเวียตเจ็ท

ไทยเวียตเจ็ทขอกระทรวงคมนาคมทำบริการภาคพื้นที่สุวรรณภูมิเอง หวังแก้ปัญหากระเป๋าเช็คอินมาช้า ตั้งงบลงทุน 400 ล้านบาท เชื่อวิน-วินทุกฝ่าย

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้โดยสารสายการบินไทยเวียตเจ็ท ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับสัมภาระเช็คอินล่าช้า นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ขออนุญาตให้สายการบินสามารถให้บริการภาคพื้นได้ด้วยตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหดังกล่าว โดยยกตัวอย่างท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองที่สายการบินแต่ละรายสามารถให้บริการภาคพื้นด้วยตนเองได้

“ไทยเวียตเจ็ท เราอยากจะจัดอุปกรณ์หารถลากเครื่องบิน รถลากกระเป๋าเอง จัดหาพนักงานเอง แต่เราคงยังไม่บริการคนอื่น โฟกัสบริษัทเราเองเป็นหลัก และเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีให้ผู้ประกอบการสองรายที่มีอยู่ ให้สามารถบริหารจัดการลูกค้าของเขา และบริการลูกค้าสายการบินรายอื่น ๆ ได้” นายวรเนติกล่าว

นายวรเนติกล่าวว่า สายการบินมีความพร้อมในงบลงทุนจัดซื้ออุปกรณ์ และการจัดหาบุคลากร ราว 300-400 ล้านบาท พร้อมจัดหาพนักงานราว 100 คน และเชื่อว่าหากคำขอดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้ให้บริการภาคพื้นอยู่ทั้งสิ้น 2 รายด้วยกัน คือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS)

ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหากระเป๋าล่าช้าในสนามบิน ว่า ขณะนี้ ทางกระทรวง มี 2 แนวทางในการปฏิบัติ คือ ได้มอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (บีเอฟเอส) บริษัทในเครือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไปดำเนินแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 30 วัน หากไม่สามารถแก้ไขได้ จะมีการเรียกสายการบินอื่น ๆ มาหารือเพื่อหาเอาต์ซอร์ซ (Outsource) มาให้บริการแทน

ส่วนแผนในระยะยาวได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปศึกษาหาโอเปอร์เรเตอร์รายใหม่ ๆ มาเตรียมให้บริการเพิ่ม เนื่องปัจจุบันประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางมากขึ้นแล้ว ทำให้ปัจจุบันเกิดดีมานมากกว่าซัพพลาย รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับเข้ามาไทยในปี 2566 และรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาแบบก้าวกระโดด หรือเทียบเท่าก่อนช่วงเกิดโควิด หรือเทียบเท่ากับเมื่อปี 2562 ด้วย