ดีมานด์นักท่องเที่ยวจีนทะลัก ททท.ปรับโครงสร้างสู่กลุ่ม “คุณภาพ”

เป็นที่แน่นอนแล้วว่านักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ และไม่มีการแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19

มีเพียงแค่ต้องซื้อประกันสุขภาพ วงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศต้องตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนกลับเข้าประเทศ

ด้วยตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกว่า 1,400 ล้านคน มีจำนวนผู้เดินทางออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกราว 140-150 ล้านคนต่อปี การขยับตัวเปิดประเทศของรัฐบาลจีนจึงมีนัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

กระจายไฟลต์ลงสนามบินต่างจังหวัด

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กล่าวในวงเสวนา “อัพเดตสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน” ที่จัดโดยสมาคมโรงแรมไทย (THA) ว่า หลังจากจีนเปิดประเทศ ททท.ได้ปรับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวสำหรับปี 2566 จากเดิม 20 ล้านคน เป็น 25 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว

โดยมีเป้าหมายสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่จำนวน 5 ล้านคน ซึ่งทำให้สัดส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะสั้น หรือ short haul market ในเบื้องต้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 72% จากตลาดรวม หรือประมาณ 18 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรสำคัญคือ จำนวนที่นั่งและจำนวนเที่ยวบินที่ยังกลับมาได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ จากการประเมินจำนวนที่นั่งสายการบินที่มีอยู่ในขณะนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาส 1/2566 ประเทศไทยน่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ราว 300,000 คน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ขณะนี้สายการบินต่าง ๆ แจ้งความประสงค์ที่จะกลับมาทำการบินเพิ่มขึ้น โดย กทพ.ได้พยายามที่จะกระจายเที่ยวบินเชื่อมระหว่างจีน-ไทยออกไปยังสนามบินอินเตอร์ในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้นด้วย เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจีนออกไปในพื้นที่ต่างจังหวัด รวมทั้งแก้ปัญหาความหนาแน่นและความจุในการรองรับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ปรับโครงสร้างสู่ New Chapter

“ธเนศวร์” บอกด้วยว่า ททท.มีแผนกลยุทธ์ที่จะทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนครั้งนี้เป็นตลาด “คุณภาพ” และเป็น new chapter จริง ๆ เน้นเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนต่อทริป โดยให้สำนักงาน ททท.ทั้ง 5 แห่งในจีนสื่อสารและให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวจีน ว่าการกลับมาคราวนี้ประเทศมีอะไรใหม่ ๆ บ้าง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่ายที่มากขี้น

นอกจากนี้ ททท.ยังมีแผนนำผู้ประกอบการของไทยไปโรดโชว์ใน 3 เมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู และกว่างโจว ในระหว่างวันที่ 20, 22 และ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ตามลำดับ

“เราวาง strategy หรือแผนกลยุทธ์สำหรับตลาดระยะใกล้ไว้ถึง 5 แนวทาง โดยแคมเปญ China is Back หรือจีนกลับมาแล้ว ถือเป็น 1 ในแผนกลยุทธ์ที่เราจะไปเปิดตลาดในช่วงที่ไปโรดโชว์จีน และยังมีแผนเร่งทำตลาดในจีนอย่างหนักต่อเนื่องทั้งปีด้วย”

ยันจีนพร้อมจ่ายมากขึ้น

“ภัคนันท์ วินิจชัย” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานปักกิ่งระบุว่า สำนักงานปักกิ่งดูแลตลาดทางตอนเหนือของจีน 9 มณฑล อาทิ ปักกิ่ง, เทียนจิน, เหอเป่ย์, เหอหนาน, ซานซี, เหลียวหนิง ฯลฯ รวมถึงมองโกเลีย มีประชากรรวมประมาณ 370 ล้านคน ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจากโซนนี้เข้าไทยประมาณ 3 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน

โดยปัจจุบันพบว่านักท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวนี้ยินดีที่จะใช้จ่ายมากขึ้น นิยมเดินทางแบบเทเลอร์เมด และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมีอัตราการขยายตัวสูง และกว่า 90% บอกว่ามีแผนพาลูก ๆ ไปท่องเที่ยวหาประสบการณ์นอกห้องเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ยอมรับระบบการจองล่วงหน้าด้วย

สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้นั้น ราคาขายยังค่อนข้างสูง เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องเที่ยวบิน โดยปัจจุบันมีสายการบินให้บริการอยู่จำนวน 3 สายการบิน คือ เซี่ยเหมิน แอร์ไลน์, เหอหนาน แอร์ไลน์ และนกแอร์ และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป

นักท่องเที่ยวจีนทะลัก

สอดรับกับ “บุญระพี ดำรงรัตน์” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกว่างโจว ดูแลพื้นที่ใน 5 มณฑลใหญ่ คือ กวางตุ้ง, ฝูเจี้ยน, เจียงซี, หูหนาน และไห่หนาน บอกว่า ในภูมิภาคนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความมั่งคั่งสูง ประชากรกลุ่มคนชั้นกลางมีรายได้สูง และมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก

มีโครงสร้างนักท่องเที่ยวประมาณ 62% เป็นนักท่องเที่ยวแบบเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ขณะที่กลุ่มที่เป็นกรุ๊ปทัวร์นั้น ส่วนใหญ่ปรับตัวเดินทางเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กลง นิยมเดินทางกับเพื่อนและครอบครัว

โดยนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มีพฤติกรรมพร้อมจ่าย เพื่อสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้น เป็นกลุ่มที่แสวงหาความสะดวกสบาย ใช้เทคโนโลยีในทุกกระบวนการท่องเที่ยว

“เซี่ยงไฮ้-เฉิงตู” ไฟลต์บินโตพุ่ง

“นงลักษณ์ อยู่เย็นดี” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเซี่ยงไฮ้ ดูแลเซี่ยงไฮ้และอีก 5 มณฑล คือ เจ้อเจียง, เจียงซู, หูเป่ย์, ชานตง และอานฮุย บอกว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวในภูมิภาคเดินทางเข้าไปประมาณ 4 ล้านคน หรือประมาณ 30% เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีรายได้สูง

โดยปัจจุบันจำนวนที่นั่งและเที่ยวบินกลับมาทำการบินเร็วมาก ก่อนวันที่ 18 มกราคม 2565 มีเที่ยวบินเข้าไทยจำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีจำนวนที่นั่งประมาณ 1,148 ที่นั่งต่อสัปดาห์ แต่หลังวันที่ 18 มกราคมเป็นต้นไป เพิ่มเป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีจำนวนที่นั่งรวมประมาณ 7,282 ที่นั่งต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 500%

ทั้งนี้ จุดหมายปลายทางหลัก (40%) คือ กรุงเทพฯ รองลงมาคือ ภูเก็ต และเชียงใหม่ มีแผนพำนักนาน 1-2 สัปดาห์ (กลุ่มนักธุรกิจ) กลุ่มขนาดเล็กไม่เกิน 15 คน รวมกลุ่มออกแบบการเดินทางเอง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องอีโคทัวริซึ่ม ท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และเปลี่ยนเดสติเนชั่นจากเที่ยวในเมืองเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เช่นเดียวกับ “กนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเฉิงตู ดูแลพื้นที่ 8 มณฑล เช่น เฉิงตู ฉงชิ่ง ซินเจียง กานซู เสฉวน ฯลฯ ที่บอกว่า ในพื้นที่นี้มีสนามบินนานาชาติถึง 2 แห่ง โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ นักเรียน ที่ชื่นชอบการเที่ยวทะเล

ช่วงก่อนวิกฤตโควิดมีสายการบินเปิดเส้นทางเข้าไทย 18 สายการบิน ใน 8 จุดหมายปลายทางของไทยมีจำนวนที่นั่งรวมกว่า 80,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ ปัจจุบันทุกสายการบินและทุกเส้นทางบินแจ้งขอกลับมาบินแล้ว ทั้งเส้นทางสู่กรุงเทพฯ, ภูเก็ต และเชียงใหม่ และยังมีแผนบินสู่สมุย, กระบี่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์

ยันจีนยังชื่นชอบทะเล-ช็อปปิ้ง

ขณะที่ “รุ่งทิพย์ บุกขุนทด” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานคุณหมิง ดูแลพื้นที่ 3 มณฑลคือ ยูนนาน กว่างซี กุ้ยโจว ให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวในโซนนี้ชื่นชอบทะเล อาหาร ศิลปวัฒนธรรม และช็อปปิ้ง ให้ความสำคัญความคุ้มค่าและความปลอดภัย โดยงานวิจัยของการท่องเที่ยวจีน (China Tourism) ระบุชัดเจนว่า ช็อปปิ้งยังเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวในพื้นที่นี้นิยม

ที่สำคัญนักท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ยังสามารถเดินทางเข้าไทยได้ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ โดยทางอากาศนั้นปัจจุบันมีเที่ยวบินเข้าไทยจำนวน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวม 1,470 ที่นั่ง และจะทยอยกลับมามากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2566

ขณะที่ทางบกจะมีทั้งเส้นทางรถไฟจีน-ลาว, คาราวานรถยนต์, คาราวานบิ๊กไบก์ ฯลฯ ส่วนทางน้ำ (ทางเรือ) นั้นคาดว่าจะเริ่มกลับมาในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นต้นไป

ก.พ.-มี.ค.จีนปลดล็อกกรุ๊ปทัวร์

“ชูวิทย์ ศิริเวชกุล” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. ให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทย โดยปี 2562 จีนมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวประมาณ 35% ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะฟื้นไม่ได้หากนักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมา

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนคือ จำนวนที่นั่งและเที่ยวบินที่จะกลับมา โดยปัจจุบัน (มกราคม 2566) มีจำนวนเที่ยวบินจากจีนเข้าไทยจำนวน 15 เที่ยวบินต่อวัน หรือรวมประมาณ 72,000 ที่นั่ง เดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 20 เที่ยวบินต่อวัน หรือรวมประมาณ 90,000 กว่าที่นั่ง

และคาดว่าจะปรับขึ้นเป็นจำนวนมากในเดือนมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านตารางบิน จากตารางบินฤดูหนาวสู่ตารางบินฤดูร้อน

พร้อมทิ้งท้ายว่า สำหรับตลาดจีนนั้นดีมานด์มหาศาลรออยู่ ประเด็นสำคัญคือบริการภาคพื้น (สนามบิน) ในฝั่งไทยยังมีข้อจำกัดในการรองรับจำนวนเที่ยวบินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

และหากรัฐบาลจีนอนุมัติให้บริษัททัวร์สามารถทำตลาดแบบกรุ๊ปทัวร์ออกเดินทางได้ ดีมานด์จะทะลักเข้ามามากขึ้นแน่นอน ซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคมนี้

ประเด็นนี้คือโจทย์ใหญ่ของฝั่งซัพพลายของไทย…

Trip.com ชี้ดีมานด์ นทท.จีนพุ่ง ไทยเบอร์ 1 ปลายทางในฝัน

หลังจากปิดประเทศมาเกือบ 3 ปีเต็ม ๆ ทำให้ชาวจีนเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทันทีที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

“ซุน เทียนซู” รองประธานกรรมการทริปดอทคอมกรุ๊ป เผยว่า ภาคการท่องเที่ยวจีนมีความแข็งแกร่งอย่างมาก นักท่องเที่ยวชาวจีนสำรองห้องพัก เครื่องบิน บัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก หลังทางการจีนผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข ปัจจุบันคาดว่าปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศของจีนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนการระบาดโควิด-19 แล้ว

ส่วนความต้องการเดินทางไปต่างประเทศนั้น อยู่ที่ประมาณ 50% ของปี 2562 เนื่องจากสายการบินยังไม่กลับมาให้บริการอย่างเต็มที่

“ประมาณกลางปี 2566 ภาพรวมดีมานด์การท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเทียบเท่า หรืออาจสูงกว่าปี 2562 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวบินว่ามีเพียงพอรองรับความต้องการดังกล่าวหรือไม่”

และจากการค้นหาข้อมูลบนแพลตฟอร์ม Trip.com Group พบว่านักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางไปยังประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดยในระยะเวลา 11 วันหลังจากประกาศเปิดประเทศของจีน อัตราการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 176% ขณะที่การค้นหาข้อมูลประเทศสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 96% เมื่อเทียบกับ 14 วันก่อนหน้าที่ทางการจีนประกาศเปิดประเทศ

โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนประเภทเดินทางด้วยตนเอง (FIT) จะเริ่มเดินทางต่างประเทศมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาว 1 พฤษภาคม (วันแรงงาน) และช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ขณะที่ช่วงตรุษจีนนี้ยังมีนักท่องเที่ยวจีนออกเดินทางไม่มาก

เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับอดีต หลายเที่ยวบินต้องต่อเครื่องที่ท่าอากาศยานอื่น สายการบินฟูลเซอร์วิสยังไม่กลับมาให้บริการเต็มที่ อีกทั้งบัตรโดยสารยังมีราคาแพงมาก

ส่วนนักท่องเที่ยวประเภทกรุ๊ปทัวร์นั้นยังไม่ออกเดินทาง เนื่องจากรัฐบาลจีนยังไม่อนุญาต

“คาดว่าหากทางการจีนผ่อนคลายมาตรการกรุ๊ปทัวร์ในครึ่งปีหลัง นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์อาจกลับมาครองสัดส่วนราว 20% จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด”

พร้อมระบุว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ราว 60% ขณะที่กลุ่มเดินทางด้วยตนเองครองสัดส่วนราว 40% คาดว่าหลังการระบาดโควิด-19 สัดส่วนของนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเภทจะมีสัดส่วน 50% : 50%

ผู้บริหารทริปดอทคอมกรุ๊ปยังบอกอีกว่า เมื่อจำแนกข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ พบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบ FIT ที่เดินทางมายังประเทศไทย ส่วนใหญ่มีอายุ 30-40 ปี กลุ่มดังกล่าวมีศักยภาพในการใช้จ่าย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ เนื่องจากมีศักยภาพการใช้จ่าย

โดยเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต้องการออกเดินทางสูง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เสิ่นเจิ้น หางโจว หนานจิง เฉิงตู ฉงชิ่ง ส่วนใหญ่เน้นการเดินทางเพื่อพักผ่อน เดินทางกับครอบครัว เพื่อน ปลายทางที่ได้รับความนิยมคือ กรุงเทพฯและภูเก็ต รองลงมาคือ เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา

นักท่องเที่ยวจีนทะลัก

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจีนยังมีความกังวลต่อการออกเดินทาง โดยเฉพาะนโยบายการเข้าออกพรมแดน เนื่องจากปัจจุบันแต่ละประเทศทั่วโลกมีนโยบายการเข้าออกพรมแดนแตกต่างกัน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

สำหรับประเทศไทย “ซุน” เสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวอื่นนอกเหนือจากเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ เพราะหากราคาการท่องเที่ยวในเมืองดังกล่าวสูงจนเกินไป นักท่องเที่ยวอาจยังไม่เดินทาง

และยังบอกด้วยว่า จากที่ ททท.ประเมินว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยราว 5 ล้านคน ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากประเทศจีนมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณานโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และจับตาประเทศอื่น ๆ โดยรอบว่าจะมีนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างไรด้วย

‘แอตต้า’ ลุ้นจีนปลดล็อก ‘กรุ๊ปทัวร์’ เดินทาง Q2

“ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกว่า สลอตเที่ยวบินยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะถึงนี้อาจมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากเที่ยวบินเชื่อมไทย-จีนยังมีจำนวนน้อย ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์นี้สลอตการบินยังมีจำนวนน้อยอยู่เช่นกัน

ปัจจุบัน (12 ม.ค. 66) ทางการจีนยังไม่ประกาศอนุญาตให้บริษัททัวร์กลับมาให้บริการการท่องเที่ยวแบบกลุ่ม (group tour) ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าจะมีการผ่อนคลายเมื่อใด แต่ในส่วนของบริษัทได้เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง (FIT) แต่ยังมีจำนวนน้อย

“บริษัททัวร์ยังรอทางการจีนประกาศอนุญาตให้บริษัททัวร์กลับมาทำทัวร์ได้ เร็วที่สุดอาจเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรืออาจเป็นเดือนเมษายน แต่ตอนนี้บริษัททัวร์ฝั่งจีนยังไม่มีความพร้อม ขาดคน และกำลังฟื้นฟูอยู่”

“ศิษฎิวัชร” บอกด้วยว่า หากทางการจีนประกาศผ่อนคลายให้จัดทำทัวร์ในเดือนเมษายน คาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางกับบริษัททัวร์จะเริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ในช่วงปลายไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นในปริมาณปกติ

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายการบินว่าจะสามารถกลับมาให้บริการได้มากน้อยเพียงใดด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนการระบาดของโควิด-19 ก็เริ่มเห็นแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเดินทางด้วยตนเองมากขึ้น และปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าไทยก็ล้วนเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปี มีความสามารถใช้จ่ายสูง มักเลือกเข้าพักในโรงแรมขนาด 4 ดาวขึ้นไป

ส่วนสถานการณ์อุปทานด้านโรงแรมนั้น พบว่าโรงแรมที่รองรับนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโรงแรมขนาด 3 ดาวนั้น บางแห่งยังไม่กลับมาเปิดกิจการเต็มที่ หลายแห่งยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่

ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงวางเป้าหมายในปี 2570 หรือในอีก 5 ปี ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 80 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 5 ล้านล้านบาท

ประเด็นนี้ “ศิษฎิวัชร” บอกว่า หากประเทศมีนักท่องเที่ยวถึง 80 ล้านคน เบื้องต้นประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านคน