อุตฯท่องเที่ยวตั้งรับนักท่องเที่ยวจีน หวั่นซัพพลายไซด์ “สายการบิน-โรงแรม” ไม่พร้อมทุบดีมานด์สะดุด ชี้อานิสงส์ “กรุ๊ปทัวร์” ออกเดินทางดันจีนเข้าไทย ปี’66 แตะ 7 ล้านคน ททท.เตรียมปรับเป้า นทท.อีกครั้งสิ้น มี.ค. “ไทยแอร์เอเชีย” เปิดบินสู่ 8 เมืองหลัก “นกแอร์-ไทยไลอ้อน” ไม่มีเครื่อง เน้นให้บริการชาร์เตอร์ ขณะที่ “รถบัสนำเที่ยว” โอดฟื้นกลับมาแค่ 30%
จากการที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ประกาศอนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวและบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) สามารถดำเนินการจัดการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ หรือกรุ๊ปทัวร์สำหรับชาวจีนไปยัง 20 ประเทศตามรายชื่อที่ออกประกาศ ตั้งแต่ 6 ก.พ. 2566 นี้เป็นต้นไปนั้น
นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า (in bound) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นข่าวดีสำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยที่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญออกมาในช่วงเวลาที่ดีสอดรับกับแผนการทำการตลาดล่วงหน้าของผู้ประกอบการนำเที่ยว (บริษัททัวร์) รวมทั้งยังเอื้อให้สายการบินต่าง ๆ สามารถวางแผนเพิ่มเส้นทางและเพิ่มความถี่ในตารางบินฤดูร้อน (summer schedule) ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ด้วย
คาดนักท่องเที่ยวจีน 5-7 ล้านคน
นายวิชิตกล่าวด้วยว่า จากรายชื่อ 20 ประเทศตามประกาศที่ยังไม่มีเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม คู่แข่งสำคัญของไทย ทำให้ไทยมีโอกาสและได้เปรียบประเทศคู่แข่งอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังสะท้อนว่าจีนให้ความสำคัญกับประเทศไทย จึงคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเกิน 5 ล้านคนตามที่ตั้งเป้าไว้ หรือหากสายการบินกลับมาให้บริการเพิ่มได้เร็วขึ้นน่าจะมีโอกาสถึง 7 ล้านคน
สอดรับกับนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) หรือสมาคมทัวร์อินบาวนด์ ที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากการพูดคุยกับบริษัทนำเที่ยวในประเทศจีนได้ข้อมูลว่า บริษัทนำเที่ยวรวมถึงบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ในจีนมีความตื่นตัวในการกลับมาทำการตลาดอย่างมาก โดยเชื่อว่าตลาดจะกลับมาคึกคักและกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 เป็นต้นไป และคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 5-7 ล้านคน
“ตั้งแต่ 6 ก.พ.นี้เป็นต้นไปเราไม่ห่วงเรื่องดีมานด์นักท่องเที่ยวแล้ว ห่วงแต่บริการในแง่ซัพพลายไซด์ โดยเฉพาะสายการบินว่าจะกลับมาให้บริการได้เร็วและเพียงพอกับดีมานด์ที่มีได้แค่ไหน” นายศิษฎิวัชรกล่าว
กรุ๊ปทัวร์ออกเที่ยว เม.ย.-พ.ค.
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สำนักงาน ททท. ในจีนทั้ง 5 แห่ง ได้ติดตามสถานการณ์ในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมการพูดคุยกับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าก่อนการเปิดประเทศของจีนแล้ว โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์จะเริ่มเดินทางมากขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค.-พ.ค. เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดวันแรงงาน (1 พฤษภาคม) โดยการคาดการณ์ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเบื้องต้น ททท.ยังคงเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนที่ 5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ต้องรอประเมินสถานการณ์หลังสิ้นสุดไตรมาส 1/2566 ซึ่งอาจมีการปรับตัวเลขอีกครั้ง
หลังจากทางการจีนประกาศให้กรุ๊ปทัวร์ออกเดินทางท่องเที่ยวมาไทยได้ พบว่าบริษัทนำเที่ยวและบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) เริ่มทำการตลาดขายแพ็กเกจทัวร์กันอย่างชัดเจน รวมถึงการตื่นตัวของกลุ่มผู้ประกอบการฝั่งไทยด้วย โดย ททท.มีแผนจัดโรดโชว์นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย 60 รายไปพบปะกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวของจีนใน 3 เมืองหลักคือ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กว่างโจว ช่วงวันที่ 20-24 ก.พ.นี้ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวได้รับความสนใจและจองที่นั่งเต็มอย่างรวดเร็ว
“โรงแรม-สายการบิน” ไม่พร้อม
นายธเนศวร์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาคท่องเที่ยวยังมีปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เช่น ธุรกิจโรงแรมขาดแคลนแรงงาน รวมถึงโรงแรมหลายแห่งยังไม่กลับมาดำเนินกิจการเต็มที่ หรือกรณีของธุรกิจรถบัส รถทัวร์นำเที่ยวที่เน้นรับนักท่องเที่ยวจีนที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะค่อย ๆ คลี่คลายมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มรับพนักงานเพิ่มเข้าสู่ระบบบ้างแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศมีจำนวนราว 30% ของก่อนการระบาดของโควิด-19 เท่านั้น ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้รับความสะดวกจากตารางบินที่ไม่หลากหลาย บัตรโดยสารมีราคาแพง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สายการบินบางแห่งเริ่มปรับแผนการบิน โดยนำเครื่องบินที่ให้บริการเส้นทางปัจจุบันสับเปลี่ยนเตรียมให้บริการเส้นทางจีนมากขึ้น เช่น ไทยแอร์เอเชีย อาจนำเครื่องบินที่ให้บริการเส้นทางประเทศอินเดียไปให้บริการเส้นทางจีน เนื่องจากดีมานด์การเดินทางนักท่องเที่ยวจากอินเดียลดลง จากมาตรการที่นักท่องเที่ยวต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางกลับเข้าอินเดีย เป็นต้น ส่วนสายการบินจากประเทศจีนนั้น เชื่อว่าจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการที่บางประเทศยังมีมาตรการควบคุมโควิด-19 ต่อนักท่องเที่ยวจีน ทำให้สายการบินอาจเลือกนำเครื่องบินที่มีกลับมาให้บริการเส้นทางบินเข้าประเทศไทยมากขึ้น
“ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณสายการบินขอสลอตการบินกับสำนักงานการบินพลเรือน หรือ กพท.เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน กพท.ก็ได้ขอให้ ททท.จูงใจสายการบินให้เปิดเส้นทางบินจากเมืองท่องเที่ยวอื่น เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งยังมีความสามารถรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน แทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่มีความหนาแน่นของปริมาณเที่ยวบิน” นายธเนศวร์กล่าว
ทั้งนี้ สายการบินได้เข้ามาหารือร่วมกับ ททท. เกี่ยวกับทิศทางการประชาสัมพันธ์ โดย ททท.เตรียมกระตุ้นการท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว คุนหมิง เฉิงตู ขณะที่ ททท.จะจัดกิจกรรมโปรโมชั่นสนับสนุนแพ็กเกจทัวร์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
“แอร์เอเชีย” เปิดบิน 8 เส้นทาง
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียมีความพร้อมทั้งในด้านฝูงบิน บุคลากร และพร้อมกลับมาเปิดเส้นทางบินตรงสู่ประเทศจีนอีกครั้ง หลังจากที่หยุดให้บริการสู่เมืองจีนมานานกว่า 2 ปี โดยเบื้องต้นได้กลับมาให้บริการ 8 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย เส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ กว่างโจว ฉงชิ่ง เสิ่นเจิ้น คุนหมิง หางโจว หนานจิง ฉางชา และมาเก๊า โดยจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายมกราคม 2566 เป็นต้นไป และจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเดือนมีนาคม 2566
นกแอร์-ไทยไลอ้อนบินชาร์เตอร์
แหล่งข่าวจากสายการบินนกแอร์กล่าวว่า สายการบินมีการเตรียมพร้อมทีมสนับสนุนด้านตลาดจีน และอยู่ระหว่างการเจรจากับตัวแทนการท่องเที่ยวและ OTA ในประเทศจีนถึงทิศทางการกลับมาให้บริการเที่ยวบินจีน โดยเบื้องต้นประเมินว่าอาจให้บริการในลักษณะเช่าเหมาลำเป็นหลัก เส้นทางที่นกแอร์ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำอยู่ในปัจจุบันคือ ดอนเมือง-หนานหนิง และมีแผนให้บริการเส้นทางดอนเมือง-หนานจิง และดอนเมือง-เจิ้งโจว ในลำดับต่อไป
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า นกแอร์มีแผนรับเครื่องบินลำใหม่จำนวน 2 ลำเข้ามาในปี 2566 สำหรับเตรียมพร้อมรองรับตลาดจีน
“ล่าสุดมีข่าวว่านกแอร์ประสบปัญหาจากการที่ผู้ให้เช่าอากาศยานไม่มีเครื่องบินที่ตรงกับความต้องการของสายการบินให้เช่า ทำให้แผนดังกล่าวอาจล่าช้า” แหล่งข่าวกล่าว
สอดรับกับแหล่งข่าวจากฝ่ายสื่อสารองค์กรสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ที่ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำเส้นทางกรุงเทพฯ-เหอเฟ่ย และมีแผนเตรียมเปิดทำการบินตารางบินปกติ (Scheduled Flight) สู่จีน คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในเดือน ก.พ.นี้ ทั้งนี้ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินทั้งสิ้น 11 ลำ และมีแผนนำเข้าเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการบิน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
รถบัสนำเที่ยวฟื้นแค่ 30%
นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) และนายจิระเดช ห้วยหงษ์ทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท หงษ์ทอง เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ผู้ให้บริการเช่ารถบัสนำเที่ยวรายใหญ่ ร่วมกันเปิดเผยว่า ปัจจุบันรถบัสหรือรถทัวร์นำเที่ยวที่พร้อมกลับมาให้บริการนักท่องเที่ยวในกลุ่มกรุ๊ปทัวร์มีสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 30% ของจำนวนรถที่มีอยู่กว่า 40,000 คันในช่วงก่อนโควิด หรือประมาณ 1.5 หมื่นคันเท่านั้น โดยจำนวนที่หายไปประมาณ 70% นั้น ส่วนหนึ่งหันไปให้บริการพนักงานโรงงาน ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มนี้จะไม่กลับมาให้บริการนักท่องเที่ยวแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นรถที่จำเป็นต้องหางบฯมาซ่อมบำรุงให้รถกลับมามีสภาพที่ให้บริการได้
“เต็มที่จริง ๆ น่าจะฟื้นมาได้ไม่เกิน 2 หมื่นคัน นอกจากนี้ รถร้านช็อปปิ้งที่เคยมีให้บริการก็ถูกขายออกไปด้วย ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ให้บริการเท่าที่พร้อมเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการรถขนส่งเหมือนกับผู้ประกอบการโรงแรมที่มีโกดังพักหนี้” นายจิระเดชกล่าว