การบินไทยฟื้นแล้ว เตรียมแปลงหนี้เป็นทุน คาดกลับเข้าเทรด SET ปลายปี’67

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ภาพจากศูนย์ภาพมติชน

การบินไทยฟื้นแล้ว เตรียมแปลงหนี้เป็นทุน เชื่อปีหน้ามีทุนเป็นบวก คาดกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้งปลายปี’67-ต้นปี’68 เผยผู้โดยสารเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน เตรียมเช่าเครื่องบินอีก 4 ลำเสริมทัพรับตลาดจีน

วันที่ 25 มกราคม 2566 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” จัดโดยเครือมติชน โดยระบุว่า ทุกวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินเสมอ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็เช่นกัน ห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวทั้งธุรกิจซ่อมแซมอากาศยาน สนามบิน ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าในปี 2565 กำไรสุทธิและอัตรากำไรจากการดำเนินงานของสายการบิน 50 แห่งที่ IATA เก็บข้อมูลฟื้นตัวดีขึ้น จากปี 2563 และ 2564

นอกจากนี้ IATA ยังประเมินว่าธุรกิจการบินในภูมิยุโรป สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง จะฟื้นตัวสูงกว่ายุคโควิดราวปี 2567 ส่วนธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเริ่มฟื้นตัวถึงระดับดังกล่าวได้ในปี 2568-2569 เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินในประเทศยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ

ลดรายจ่าย-เร่งหารายได้ทุกช่องทาง

นายชาญศิลป์กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยก่อนหน้านี้ หลังจากเข้าสู่แผนฟื้นฟูบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน สถาบันการเงินไม่อนุมัติปล่อยกู้แก่บริษัท และบริษัทมีสภาพคล่องที่ราว 4 พันล้านบาท

ในห้วงเวลาดังกล่าวการบินไทยได้ปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งการปรับลดขนาดองค์กร ลดระดับการบังคับบัญชา ปรับโครงสร้างค่าตอบแทน ปรับปรุงกระบวนการการทำงาน พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา

“เราทำทุกอย่างทั้ง Leave without pay ลดจำนวนพนักงานเพื่อสร้างความคล่องตัว ขณะที่เดือนนี้ (ม.ค. 2566) เพิ่งจะเป็นเดือนแรกที่ลูกเรือจะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน ส่วนกัปตันเชื่อว่าปี 2567 น่าจะกลับมามีรายได้เท่าเดิมก่อนโควิด” ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยกล่าว

สำหรับฝูงบิน บริษัทได้ปรับปรุงความทันสมัยของฝูงบิน จัดหาเครื่องบินที่มีความทันสมัยและมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันต่ำ เจรจาปรับลดค่าเช่าเป็นการจ่ายตามที่ใช้จริง และยกเลิกสัญญาเช่าที่มีภาระเกินควร ด้านสินทรัพย์ของบริษัท การบินไทยเปิดให้เช่าอาคารสำนักงานที่ว่าง พร้อมจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่อยู่ในแผนการใช้ประโยชน์ เช่น เครื่องบิน อาคาร ที่ดิน พัสดุสิ้นเปลือง

นอกจากนี้ บริษัทยังหาช่องทางรายได้เสริมจากการที่จำนวนเที่ยวบินลดลง โดยการเปิดภัตตาคารจำลองบรรยากาศห้องโดยสารที่สำนักงานใหญ่ของการบินไทย สร้างรายได้สูงสุดเฉลี่ย 5 แสนบาทต่อวัน จัดจำหน่ายปาท่องโก๋การบินไทย สร้างรายได้สูงสุดเกือบ 10 ล้านบาทต่อเดือน จัดทำทัวร์ไหว้พระ จัดกิจกรรมทางการตลาดทั้ง Time to Gold, Time to Smile

คาดกลับมาเทรดหุ้น “THAI” อีกครั้งปี’67

นายชาญศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดการบินไทยอยู่ในแผนฟื้นฟูฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2565 แผนดังกล่าวประกอบด้วยการเจรจาหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน โดยรัฐบาลจะแปลงหนี้เป็นทุน 100% ขณะที่เอกชนจะแปลงหนี้เป็นทุนราว 25% มีการเพิ่มทุน

“ในปี 2567-2568 การบินไทยจะมีสัดส่วนการเงินที่ดี มีทุนเป็นบวก และน่าจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 ส่วนตัวเชื่อว่าแผนปัจจุบันเป็นแผนที่ดีมาก และจะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง” นายชาญศิลป์กล่าว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

“การบินไทยขาดทุนมา 9 ปีติดกัน มีกำไรสะสมติดลบ ทุนติดลบ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น การบินไทยแปลงโควิดเป็นโอกาส เรากลับมาแล้ว” นายชาญศิลป์กล่าว

ผู้โดยสารฟื้นตัวแตะ 30,000 คนต่อวัน

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3/2565 การบินไทยมีรายได้จากการดำเนินงาน (Operating Revenue) 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.7% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันบริษัทมีค่าใช้จ่ายทั่วไปจากการดำเนินงาน (Operating Expense) ที่ 28,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนกำไรจากการดำเนินงานในนไตรมาสที่ 3/2565 อยู่ที่ 3,920 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1–9 มกราคม 2566 การบินไทยและไทยสมายล์ครองสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิราว 28% แบ่งเป็นการบินไทย 24% ไทยสมายล์ 4% ขณะที่สายการบินรายอื่น เช่น เอมิเรตส์ ไทยเวียตเจ็ท ครองสัดส่วน 5% และ 3% ตามลำดับ

“การบินไทยให้บริการผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยประมาณ 30,000 คนต่อวัน มีเที่ยวบินเฉลี่ย 100 เที่ยวบินต่อวัน ไปยัง 64 จุดหมายปลายทาง และเชื่อว่าในปีนี้สถานการณ์ต้องดีขึ้นแน่นอน” นายชาญศิลป์กล่าว

เร่งเสริมทัพฝูงบิน 4 ลำ รับตลาดจีน

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ด้วยความต้องการเดินทางมีปริมาณที่สูง มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) สูงถึง 80-90% บริษัทจึงตัดสินใจนำเครื่องบินที่จอดรอขายอย่างแอร์บัส เอ330 กลับมาให้บริการ ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินอยู่ในฝูงบินทั้งสิ้น 64 ลำ (รวมสายการบินไทยสมายล์)

อีกทั้งในครึ่งปีแรก (2566) นี้ บริษัทเตรียมเช่าเครื่องบินเพื่อเสริมทัพฝูงบินอีกจำนวน 4 ลำ คาดว่าจะเป็นเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ350 ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางประเทศจีน และตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทเตรียมเช่าเครื่องบินอีกประมาณ 20 ลำ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจการบินในปี 2566 นายชาญศิลป์ ประเมินว่า ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ราว 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากอดีตที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาบัตรโดยสารมีราคาแพง

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แก้ปัญหาโดยเร่งจ้างพนักงานภายนอก (Outsource) เสริมการให้บริการ และคาดหวังว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปอย่างสงบ คนไทยรักกัน เพราะไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่ดีอยู่แล้ว

“หลังปี 2565 หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น การบินไทยเองก็เปิดตลาดการท่องเที่ยวอินเดีย ขณะที่ประเทศจีนเพิ่งเปิดประเทศเมื่อไม่นานนี้ แต่มองว่านักท่องเที่ยวยังประสบปัญหาการเตรียมการการเดินทาง เช่น การทำพาสปอร์ตอยู่” นายชาญศิลป์กล่าว