
เที่ยวบินฟื้นคึกคัก การบินไทยเร่งแผนรองรับการให้บริการหลังเปิดบริการ 100 เที่ยวบินต่อวัน เตรียมแผนปี 2566 เพิ่มพนักงานเอาต์ซอร์ซอีกกว่า 1,600 คน แก้ปัญหาบริการต่าง ๆ ตั้งเป้าผู้โดยสารรูตอินเตอร์รอกระเป๋าไม่เกิน 30 นาที แจงอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต่างประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ยุโรปเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานหนัก
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินงานของการบินไทยล่าสุดว่า มีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ได้รับมติยอมรับจากเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกัน 78.59% แม้ว่ามีเจ้าหนี้สถาบันการเงินบางรายยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลาง อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2565ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การบินไทยได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 65 ระบุว่า ไตรมาส 3/65 บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,920 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 5,310 ล้านบาท นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค. 65 การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,558 คน คิดเป็น 30% ของผู้โดยสารต่างประเทศที่ผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะที่ส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าคิดเป็น 28% ของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ก็มีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าระดับสูงต่อเนื่อง
100 เที่ยวบินต่อวัน
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ทำการบินมากกว่า 50 จุดหมายปลายทาง รวมประมาณ 100 เที่ยวบินต่อวัน อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารราว 80% ส่งผลให้สายการบินมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจากการบิน รวมถึงการทำกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ เช่น แพ็กเกจ Time to Gold
โดยการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยว ก็ทำให้สายการบินอาจจะมีปัญหาในการให้บริการ เนื่องจากเป็นการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่ หลังจากที่มีการหยุดบินไปราว 2 ปี ทำให้สายการบินต่าง ๆ รวมทั้งการบินไทยมีข้อจำกัดในการให้บริการ
เร่งแก้ปัญหาบริการ
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันสายการบินยังประสบปัญหาระบบการจัดการสัมภาระล่าช้า แต่สายการบินได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยประสานงานกับการท่าอากาศยานไทย (AOT) เพื่อขออนุญาตนำรถกระบะเข้าไปขนสัมภาระจากเครื่องบิน
“เรายอมรับว่ามีปัญหากระเป๋าล่าช้า โดยพยายามย่นระยะเวลารอกระเป๋าเที่ยวบินต่างประเทศให้ไม่เกิน 30 นาที หลังจากเครื่องบินจอดสนิท อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางช่วงเวลาที่การจราจรในภาคพื้นสนามบินติดขัด ทำให้ระยะเวลาการรอสัมภาระนานขึ้น” นายสุวรรธนะกล่าว
ปี 2566 รับเอาต์ซอร์ซเพิ่ม
นางจันทริกา โชติกเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การบินไทยได้นำประมาณการของสายการบิน คำนวณปริมาณแรงงานที่ต้องการ ในปี 2566 การบินไทยมีแผนเพิ่มจำนวนพนักงานที่ทำงาน ณ สนามบิน จากเดิม 1,544 คน เป็น 3,200 คน โดยเป็นการเพิ่มในฝ่ายคลังสินค้าช่างที่เป็นการจ้างพนักงานภายนอก (outsource) เพื่อรองรับการให้บริการของเที่ยวบินและจำนวนผู้เดินทางที่เพิ่มมากขึ้น
“การเพิ่มพนักงานทั้งหมด ตั้งอยู่บนประมาณการของการบินไทย เราไม่ได้เพิ่มอย่างไม่มีหลักการ ปีหน้าจะเป็นการเพิ่มพนักงานเอาต์ซอร์ซอย่างเดียว เพราะการจ้างพนักงานประจำ 1 คน สามารถจ้างพนักงานภายนอกได้ราว 3.5 คน”
ทั้งนี้ การรับบุคลากรที่ทำงานในสนามบินยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลา โดยปัจจุบันใช้เวลาอยู่ประมาณ 4 สัปดาห์ เนื่องจากต้องผ่านการอบรมตามกฎที่การท่าอากาศยานไทยกำหนด
ลดพนักงาน เพื่อให้ไปต่อได้
กรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการบริการของการบินไทยยังไม่รองรับผู้โดยสารได้เต็มที่เพราะลดพนักงานมากเกินไปนั้น นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ปัญหา ณ ปัจจุบันไม่ได้เกิดจากการลดบุคลากร เพราะหากไม่สามารถลดบุคลากรการบินไทยอาจจะไม่รอดมาถึงจุดนี้ การลดบุคลากรช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรจากเดิมประมาณ 2,400 ล้านบาท เหลือราว 700 ล้านบาทต่อเดือน
หากเปรียบเทียบกับสายการบินแห่งชาติของประเทศอื่นที่เผชิญปัญหาเช่นกัน เช่น ลุฟท์ฮันซ่า หรือเอมิเรตส์ ต่างได้รับการสนับสนุนเงินรัฐบาล แต่การบินไทยไม่ได้รับ แต่การที่การบินไทยกลับมาในฐานะนี้ เกิดจากความพยายามของพนักงานการบินไทยทุกคน
“พนักงานของการบินไทยเสียสละกันมาก ทั้งการลดเงินเดือน ลดผลตอบแทน เพราะตอนนี้ก็ยังบินไม่ได้เต็มที่ทั้งจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เรายอมรับว่าบริการบางอย่างอาจจะไม่ดี บางส่วนเกิดจากผู้ให้บริการต่างประเทศ ที่ซัพพลายเชนของต่างชาติยังไม่กลับมาให้บริการเต็มที่”
ซัพพลายเชน เรื่องปวดหัว
นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ชี้แจงว่า กรณีมีผู้โดยสารวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบริการอาหารบนเที่ยวบินว่า ปัญหาในช่วงแรกส่วนหนึ่งเกิดการจากการลดภาระค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามการบินไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางประการก็เกิดจากซัพพลายเชนรายอื่น ๆ
“เช่นผู้ให้บริการอาหารในเส้นทางบินยุโรปประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนสนามบินญี่ปุ่นยังไม่ให้บริการอาหาร เนื่องจากผู้ให้บริการในญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันในเส้นทางบินญี่ปุ่น การบินไทยต้องขนอาหารขากลับไปด้วย แต่เชื่อว่าไม่นานปัญหาน่าจะได้รับการแก้ไข” นายปิยสวัสดิ์กล่าว
ขณะที่นายกิตติพงษ์ สารสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บมจ.การบินไทย กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกประสบปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ผู้ผลิตหลายรายปรับลดกำลังการผลิต ปรับลดจำนวนพนักงาน ซึ่งการบินไทยก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวด้วย
“ปัญหาบางประการ สายการบินน้อมรับและได้นำไปปรับปรุงแก้ไข การบินไทยได้ร่วมมือกับเชฟ เพื่อพัฒนารายการอาหารบนเที่ยวบินให้ดียิ่งขึ้น อีกส่วนคือปัญหาด้านซัพพลายเชน เมื่อการเดินทางเริ่มกลับมา ซัพพลายเออร์บางรายเริ่มหันไปหาสายการบินที่มีจ่ายให้เงินสด อย่างสายการบินขนาดใหญ่”
- การบินไทย ตั้ง “ชาย เอี่ยมศิริ” นั่ง CEO มีผล 1 ก.พ.66
- ครม.รับทราบ การบินไทยเพิ่มทุน 31,500 ล้านหุ้น เปิดทางหวนกระดานเทรด
- ต้นทุนสูง! การบินไทย ยันไม่นำเครื่องบิน A380 กลับมาให้บริการ
- เสริมทัพสร้างกลยุทธ์ เพื่อสร้างรายได้-การให้บริการอย่างยั่งยืน ของ ‘การบินไทย’
- แอร์ไลน์ ชี้การบินฟื้น ! เร่งเพิ่ม “เส้นทางบิน” รับดีมานด์พุ่ง
- “ทาทา” ฟื้นชีพ “แอร์อินเดีย” ดึง “สิงคโปร์แอร์ไลนส์” ร่วมทุน