“มหากิจศิริ” รุกธุรกิจการบิน เปิดตัว P80 Air เจาะตลาดจีน

สรกฤช วรรณลักษณ์
สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมการบินของไทยกลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวกลุ่มทุนใหม่และบุคคลมีชื่อเสียงเตรียมเปิดตัวสายการบินใหม่ของตัวเอง รองรับดีมานด์การเดินทางที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศที่กำลังกลับมาอยู่ในทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังเจอวิกฤตโควิด

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “สรกฤช วรรณลักษณ์” ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารองค์กร บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด บริษัทในกลุ่มธุรกิจของตระกูล “มหากิจศิริ” ถึงที่มา แผนธุรกิจ รวมถึงความคืบหน้าของการเปิดสายการบินใหม่ ดังนี้

แอร์ไลน์ตาย-ผู้โดยสารเพิ่ม

“สรกฤช” บอกถึงเหตุผลในการลงทุนเปิดสายการบินใหม่ ภายใต้แบรนด์ “P80 Air” ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทำให้มีผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินจำนวนมากต้องยุติการดำเนินกิจการ หรือลดขนาดขององค์กรลง

แต่เมื่อพิจารณาในแง่การลงทุนของภาครัฐกลับพบว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยังมีแผนขยายสนามบินอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าภาครัฐมีความเชื่อมั่นว่าปริมาณผู้โดยสารที่จะใช้งานสนามบินจะเติบโตขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันช่วงเวลา 3 ปีภายใต้การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวมีความต้องการออกเดินทางเพื่อชดเชยเวลาที่สูญเสียไป ส่งผลให้มีอุปสงค์คั่งค้าง (pent-up demand) อยู่เป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญ ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาเยือน

ปักธงฮับบิน “ดอนเมือง”

“สรกฤช” บอกว่า ในระยะเวลา 2-3 ปีแรกของการดำเนินการนี้ บริษัทมีแผนจัดหาเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ ในรูปแบบการเช่า โดยเครื่องบินทั้ง 4 ลำจะถูกออกแบบห้องโดยสารเป็นชั้นโดยสารราคาประหยัดทั้งหมด (single class) จำนวน 186 ที่นั่ง จากนั้นปีที่ 4 อาจพิจารณาขยายขนาดฝูงบิน ตามเส้นทางบินที่เพิ่มขึ้น และใช้เครื่องบินที่เหมาะสมกับความต้องการตลาด

โดยวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นสายการบิน “ราคาประหยัด” หรือโลว์คอสต์ที่ให้บริการเทียบเท่ากับสายการบินฟูลเซอร์วิส โดยผู้โดยสารฝากสัมภาระได้ 20 กิโลกรัม เลือกที่นั่งบนเที่ยวบิน และมีบริการอาหารหรือของว่างฟรี รวมถึงรักษามาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูงและเคร่งครัด

ทั้งนี้ มีแผนใช้สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์กลางการบิน (hub) เนื่องจากเป็นสนามบินที่สายการบินต้นทุนต่ำใช้เป็นศูนย์กลางทางการบินจำนวนมาก ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณผู้โดยสารที่คับคั่ง

โฟกัสแค่ตลาด “จีน”

“สรกฤช” บอกด้วยว่า สายการบินใหม่นี้จะทำการบินแบบประจำ (schedule flight) เส้นทางระหว่างประเทศไทย-จีนเท่านั้น เนื่องจากตลาดการบินประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่ชาวจีนต้องการมาเยือน ทำให้ตลาดประเทศจีนยังมีดีมานด์การเดินทางอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ บริษัทจะขายบัตรโดยสารด้วยตนเอง และร่วมมือกับบริษัททัวร์ ตัวแทน เพื่อร่วมกันจัดจำหน่ายบัตรโดยสาร รวมทั้งยังยินดีร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ในการเปิดเส้นทางต่าง ๆ ด้วย

“เราไม่บินในประเทศ เพราะตลาดในประเทศมีการแข่งขันราคาสูงมาก มีความเสี่ยงขาดทุน และเราจะบินแบบ schedule เป็นหลัก แต่ถ้าใครสนใจเช่าเหมาลำ เราก็มีพร้อมให้บริการ”

ทุกอย่างพร้อม-รอใบอนุญาต

สำหรับคาดการณ์รายได้และจำนวนผู้โดยสารนั้น “สรกฤช” บอกว่า ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาบัตรโดยสาร รวมถึงวันที่เริ่มให้บริการ ซึ่งยังต้องรอการอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย (average load factor) เส้นทางบินประเทศจีนจะอยู่ที่ราว 90%

ส่วนปัจจัยด้านบุคลากรนั้น ปัจจุบันบริษัทได้บุคลากรจากวงการการบินมาร่วมงานแล้ว และได้เปิดรับพนักงานต้อนรับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือก สำหรับบุคลากรในส่วนของนักบินนั้นเชื่อว่าประเทศไทยมีจำนวนในตลาดแรงงานเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของสายการบิน

เมื่อถามว่าสายการบิน P80 Airมีแผนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ “สรกฤช” ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (AOL : Air Operating Licence) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปแล้ว

ส่วนวันที่เริ่มปฏิบัติการบินนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดชัดเจนเพราะขึ้นอยู่กับว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) จาก กพท.เมื่อใด

ต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์

“สรกฤช” ย้ำด้วยว่า บริษัทแม่ของสายการบิน P80 Air (โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ของตระกูลมหากิจศิริ) มีความรู้ความสามารถในการเดินเรือ การเปิดตัวสายการบินดังกล่าวเป็นเหมือนการต่อยอดศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่มีด้วย

และความที่บริษัท P80 Air มีขนาดเล็ก ทำให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจสูง จึงเชื่อว่าจะสามารถควบคุมต้นทุนการบริหารจัดการได้ดีที่สุด

โดยบริษัทตั้งเป้างบฯลงทุน ณ ปีแรกที่เริ่มทำการบินไว้ที่ 300 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยการไม่มีหนี้สินจะทำให้สามารถควบคุมได้ดีและแข่งขันได้