ทำไม ? สายการบิน (ยัง) เพิ่มไฟลต์เข้าสุวรรณภูมิยาก

สายการบิน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

ยังคงเป็นประเด็นสงสัยและสอบถามกันมาเยอะว่า ตอนนี้ทุกประเทศผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออก สู่ภาวะปกติแล้ว แต่ทำไม “สายการบิน” ที่ประสงค์ขอสลอตการบินเข้า-ออก สนามบินสุวรรณภูมิของไทยจึงยังไม่ได้สักที

โดยเฉพาะสายการบินจากจีน ที่ว่ากันว่ามีเกือบ 20 สายการบิน ที่แจ้งความประสงค์ขอทำการบินเข้ามาราว 50-60 เที่ยวบิน/วัน นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ทั้ง ๆ ที่เป็นปริมาณที่น้อยมากหากเทียบกับปี 2562 ที่สายการบินจากจีนทำการบินเข้าไทยถึงราว 200 เที่ยวบิน/วัน

ประเด็นนี้ “สุทธิพงษ์ คงพูล” ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้อยู่ที่หาสลอตการบินไม่ได้ แต่อยู่ที่การจัดการในส่วนของบริการภาคพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิที่ยังมีปัญหา

เช่นเดียวกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ในฐานะผู้บริหารสนามบินที่ออกโรงชี้แจงและหาทางแก้ไขปัญหามาตลอด

โดย “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา ทอท.ได้ให้สิทธิการประกอบกิจการในส่วนของบริการภาคพื้นกับผู้ประกอบการ 2 ราย คือ การบินไทย และบางกอกไฟลท์เซอร์วิสเซส จำกัด (BFS) ในเครือบางกอกแอร์เวย์ส

ปัญหาคือ การบินไทย ซึ่งเดิมมีสัดส่วนให้บริการอยู่ราว 80% ประสบปัญหาต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู ทำให้ศักยภาพในการให้บริการไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ และบุคลากร ที่ไม่พอหลังจากเที่ยวบินระหว่างประเทศเริ่มกลับมาทำการบินตามปกติ แม้จะประกาศรับพนักงานเพิ่มต่อเนื่อง

จึงเป็นที่มาที่ AOT เสนอ ครม.ให้พิจารณาเปิดประมูลบริษัทให้บริการภาคพื้น หรือ ground service สนามบินสุวรรณภูมิ รายที่ 3 เพื่อแก้ปัญหาบริการภาคพื้นไม่เพียงพอในขณะนี้

ล่าสุดเมื่อ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ AOT ดำเนินโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องของสนามบินสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 3 เรียบร้อยแล้ว โดยจะประกาศเชิญชวนเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้

ขณะที่ AOT เองก็พร้อมส่งบริษัทบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย หรือ AOTGA ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าชิงสัมปทานด้วยเช่นกัน หลังจากที่ได้สะสมประสบการณ์จากการให้บริการที่สนามบินภูเก็ต และสนามบินดอนเมืองมาแล้วกว่า 4 ปี

และให้บริการภาคพื้นกับสายการบินทั่วโลกกว่า 50 สายการบินที่สนามบินภูเก็ต และกว่า 10 สายการบินที่สนามบินดอนเมือง

ไม่ต้องลุ้นก็น่าจะเดาไม่ยากว่า “ใคร” จะได้เป็นผู้ให้บริการภาคพื้น รายที่ 3 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ “สนามบินสุวรรณภูมิ” จะยังคงประสบปัญหาความไม่พร้อมในการรองรับเที่ยวบินเข้า-ออก ไปอีกสักระยะแน่ ๆ