ทุนใหญ่ สารสิน-มหากิจศิริ เปิดสายการบินใหม่รับท่องเที่ยวฟื้น

เครื่องบิน

ธุรกิจแอร์ไลน์เด้งรับดีมานด์เดินทางฟื้นแรง ทุนใหญ่ “สารสิน-มหากิจศิริ-แลนดาร์ช” โดดร่วมวง เผยโควิดทุบสายการบินทั่วโลกล้ม-ลดขนาดฝูงบิน เปิดทางรายใหม่แจ้งเกิด “พาที สารสิน” ทุ่มหลักพันล้านเปิดตัว “Really Cool Airlines” 22 มี.ค.นี้ บินลองฮอล ยุโรป-อเมริกา กลุ่ม “มหากิจศิริ” ปั้น P80 Air เจาะตลาดจีน ด้าน “เอ็ม-แลนดาร์ช” ชูเครื่องบินลำเล็ก บินเชื่อมจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ ขณะที่ “การบินไทย-เอมิเรตส์” เร่งฟื้นธุรกิจ ทั้งเพิ่มความถี่-เปิดเส้นทางบินใหม่ ททท.-สทท. คาดปี’66 นักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน

นายสรกฤช วรรณลักษณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารองค์กร บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ในเครือบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก ผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินจำนวนมากยุติการดำเนินกิจการ หรือลดขนาดขององค์กรลง

ขณะที่ตอนนี้นักท่องเที่ยวมีความต้องการออกเดินทางสูงและยังมีอุปสงค์คั่งค้าง หรือ pent-up demand จำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาเยือน

ปั้น P80 Air บุกตลาดจีน

นายสรกฤชกล่าวว่า บริษัทจึงมีแผนลงทุนเปิดสายการบินใหม่ ภายใต้ชื่อ “พี 80 แอร์” หรือ P80 Air ใช้เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 186 ที่นั่ง วางตำแหน่งเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ให้บริการเทียบเท่ากับสายการบินฟูลเซอร์วิส และใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นศูนย์กลาง (hub) การบิน ช่วง 2-3 ปีแรกจะมีเครื่องบินจำนวน 4 ลำ (เช่าดำเนินการ)

ทั้งนี้ สายการบิน P80 Air จะทำการบินแบบประจำ (schedule flight) เส้นทางระหว่างประเทศไทย-จีนเท่านั้น เนื่องจากตลาดการบินประเทศจีนเป็นตลาดที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก และไม่ทำตลาดภายในประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันราคาสูงมาก มีความเสี่ยงขาดทุน

“ตอนนี้เราได้บุคลากรจากภาคการบินมาร่วมงานแล้วส่วนหนึ่ง และอยู่ระหว่างการคัดเลือกพนักงานต้อนรับ ส่วนนักบินเชื่อว่าในตลาดแรงงานมีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของสายการบิน ซึ่งบริษัทพร้อมเปิดบริการทันทีที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)”

สายการบิน P80 Air

รายเก่าฟื้นช้าเอื้อรายใหม่เกิด

เช่นเดียวกับ นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เรียลลี เรียลลี คูล จำกัด (Really Really Cool) บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ที่ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า หลังวิกฤตโควิดสายการบินรายใหญ่ที่ให้บริการอยู่เดิมฟื้นกลับมาได้ไม่เท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด ไม่ว่าจะเป็นการบินไทย, เอมิเรตส์, กาตาร์, ลุฟท์ฮันซ่า, บริติชฯ ฯลฯ

ส่งผลให้จำนวนที่นั่งสายการบินที่ให้บริการในปัจจุบันมีจำกัด ไม่เพียงพอรองรับดีมานด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกที่รอเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย บวกกับราคาตั๋วโดยสารที่แพง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ

“นี่เป็นช่องว่างที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่าย บริษัทจึงลงทุนหลักพันล้านบาทเปิดสายการบินใหม่ “เรียลลี คูล แอร์ไลน์” หรือ Really Cool Airline ให้บริการแบบฟลูเซอร์วิส และทำการบินระยะไกล หรือ long-haul เท่านั้น เช่น ยุโรป อเมริกา ฯลฯ

รวมถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ เราเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อม และสามารถเริ่มต้นได้เลย ไม่มีภาระหนี้ บริษัทจะแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มี.ค.นี้และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 66 หรือตารางบินฤดูหนาว เป็นต้นไป” นายพาทีกล่าว

“แลนดาร์ช” บินเชื่อมภาคใต้

นายจักรา ทองฉิม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจการบิน บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด บริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องบิน Cessna ในประเทศไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ผู้โดยสารจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้สายการบินที่เคยลดจำนวนพนักงาน หรือลดขนาดฝูงบินไม่สามารถรองรับดีมานด์ที่มีจำนวนมากได้

ขณะที่ราคาบัตรโดยสารก็ปรับตัวสูงขึ้นและการแข่งขันน้อยลง บริษัทจึงลงทุนเบื้องต้นราว 750 ล้านบาท สำหรับเปิดสายการบินใหม่ ภายใต้ชื่อ “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ให้บริการในพื้นที่จังหวัดภาคใต้เป็นหลัก ใช้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) เป็นศูนย์กลางการบิน

โดยมองว่าในพื้นที่ภาคใต้มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นตลอดทั้งปี บวกกับแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่มีความพยายามพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักและเมืองรองมากขึ้น

Landarch Airlines

ในช่วงแรกของการให้บริการ หรือต้นปี 2567 จะให้บริการ 3 เส้นทาง คือ หาดใหญ่-เบตง (ยะลา), หาดใหญ่-นราธิวาส และหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี จากนั้นจะทยอยเพิ่มเส้นทางสู่นครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง ฯลฯ และในระยะยาวอาจขยายเส้นทางบินไปยังต่างประเทศ เช่น ปีนัง ลังกาวี (มาเลเซีย) และร่วมมือกับสายการบินขนาดใหญ่บินเชื่อมเส้นทางเมืองรอง

ช่วง 5 ปีแรกมีแผนมีเครื่องบินในฝูงบิน 5 ลำ เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 12 ที่นั่ง ปัจจุบันสั่งซื้อแล้ว 2 ลำ จากนั้นปี 2568-2570 มีแผนนำเข้าเครื่องบินเพิ่มอีกปีละ 1 ลำ ตั้งเป้ารับมอบเครื่องบินลำแรกในช่วงไตรมาส 1/2567 และรับมอบลำที่ 2 ในช่วงไตรมาส 3/2567

ส่วนการให้บริการจะกำหนดให้แต่ละจุดหมายใช้เวลาทำการบินไม่เกิน 60 นาที ตอนนี้ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ หรือ Air Operating Licence : AOL จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และอยู่ระหว่างเตรียมขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ Air Operator Certificate : AOC จาก กพท.ในลำดับต่อไป

นายจักราย้ำว่า ธุรกิจสายการบินขนาดเล็กในประเทศไทยถือเป็นน่านน้ำใหม่ หรือ blue ocean เป็นตลาดที่มีโอกาสอยู่อีกมาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีสายการบินภูมิภาคขนาดเล็ก

บินไทย-เอมิเรตส์เร่งเพิ่มไฟลต์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สายการบินรายใหญ่เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการฟื้นเส้นทางบินเดิมที่เคยหยุดให้บริการช่วงก่อนโควิดกลับมา เริ่มจากการบินไทย ประกาศแผนการบินว่าจะให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารในตารางการบินฤดูร้อนปี 2566 (26 มี.ค.-28 ต.ค. 66) รองรับการเดินทางของผู้โดยสารสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยมในทุกภูมิภาค

เช่น เส้นทางยุโรปมี 7 เส้นทางคือ ลอนดอน ปารีส ซูริก แฟรงก์เฟิร์ต มิวนิก และโคเปนเฮเกน เส้นทางออสเตรเลีย 2 เส้นทางคือ ซิดนีย์ และเมลเบิร์น เส้นทางเอเชีย 25 เส้นทาง อาทิ โตเกียว (ฮาเนดะ) นาโกยา โอซากา ฟูกูโอกะ ซัปโปโร มะนิลา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ ฯลฯ

ส่วนเส้นทางสู่จีนมี 5 เส้นทาง ได้เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา คือ คุนหมิง กวางโจว เฉิงตู เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และล่าสุดได้ประกาศเปิดรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขยายฝูงบินและจำนวนเที่ยวบินในปี 2566 อีกครั้ง

ขณะที่สายการบินเอมิเรตส์ ประกาศเพิ่มการดำเนินงานขึ้น 31% ตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ มีแผนเพิ่มจำนวนที่นั่งในตารางเที่ยวบินฤดูร้อน ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ทั้งการเพิ่มเส้นทางใหม่และเพิ่มเที่ยวบินรายสัปดาห์ 251 เที่ยวบินสู่เส้นทางที่มีอยู่แล้ว เช่น กรุงเทพฯ มีแผนเพิ่มบริการเที่ยวบินที่ 5 ของจำนวนเที่ยวบินรายวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566

ปักกิ่ง มีแผนจะนำเครื่องแอร์บัส A380 มาให้บริการแทนเครื่องโบอิ้ง 777-300 ER ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และเพิ่มเที่ยวบินรายวันเที่ยวบินที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป ฮ่องกงเพิ่มเที่ยวบินตรงทุกวันตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. กัวลาลัมเปอร์ จะเพิ่มบริการเที่ยวบินที่ 3 ของจำนวนเที่ยวบินรายวันตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. โตเกียว เริ่มให้บริการสู่ฮาเนดะอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. เป็นต้น

คาดปี’66 ต่างชาติ 30 ล้านคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค.-28 ก.พ. 66) ภาพรวมการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีต่อเนื่อง มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 4.2 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.42 แสนล้านบาท

และคาดว่าประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปีนี้ประมาณ 25-30 ล้านคน สร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวราว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และรายได้จากตลาดในประเทศ 8.8 แสนล้านบาท

“กลยุทธ์หลักตอนนี้คือ การส่งเสริมตลาดร่วมกับสายการบินให้กลับมาทำการบินให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% จากทั้งการฟื้นเส้นทางบินเก่า เปิดเส้นทางบินใหม่ และให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับ สทท.ประเมินว่าปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะมีจำนวน 30 ล้านคน และสร้างรายได้รวมทั้งจากตลาดต่างประเทศและในประเทศได้ใกล้เคียงกับปี 2562 หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

เปิดปูมผู้ประกอบการ 3 รายใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ผู้ก่อตั้งสายการบินพี 80 แอร์ (P80 Air) เป็นบริษัทในเครือบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA โดยจัดตั้งและจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดย TTA ถือหุ้น 99.9%

กรรมการ ประกอบด้วย 1.นายประยุทธ มหากิจศิริ 2.นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ 3.นายฌ็องปอล เทเวอแน็ง 4.นายสมชัย ไชยศุภรากุล 5.นายสมชาย อภิญญานุกุล 6.นายโดม ลิ่วลมวิบูลย์ 7.นายคทารัฐ สุขแสวง และ 8.นาวาอากาศโทแพน มหารักขกะ

นอกจากนี้ เมื่อ 10 มิ.ย. 2565 TTA แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ชื่อ บริษัท พี 80 เจ็ท จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเหมาลำ มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท

ส่วนบริษัท เรียลลี คลู แอร์ไลน์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อ 18 ก.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีกรรมการรวม 3 คน ประกอบด้วย 1.นางสาวมยุรี เพชรนอก 2.นางภัทรพร วงษ์มีศักดิ์ และ 3.นายพาที สารสิน

และบริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อ 21 พ.ย. 2548 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 92.7 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คน ประกอบด้วย 1.นายธานี ธราภาค 2.นายธนา ธราภาค และ 3.นางทิพวัลย์ แก้วเงิน ประกอบธุรกิจให้บริการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ระบบบริการ ให้แก่ภาครัฐ-ภาคเอกชน และเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบิน Cessna ในประเทศไทย และจัดหาอากาศยานไร้คนขับรุ่น PUMA และ Raven ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก กระทรวงกลาโหม