
“พาที สารสิน” อดีตซีอีโอนกแอร์วิพากษ์สถานการณ์ธุรกิจการบินโลก เผยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง คาดกลับมารีคัฟเวอรี่ได้ในปี’67 เหตุปัญหาขาดแรงงาน-เงินทุน-ราคาน้ำมันโลก ชงรัฐซัพพอร์ตภาคท่องเที่ยวหนุนการฟื้นตัว ชี้ปี’66 ผู้ประกอบการอย่าหวังพึ่งตลาดจีน
นายพาที สารสิน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจการบินของโลกหลังโควิด ในงานประชุมสมาชิกประจำเดือนสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
และเกิดแนวโน้มของการท่องเที่ยวเพื่อล้างแค้น (revenge tourism) อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจการบินจะกลับมาเท่ากับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด (full recovery) ได้ในปี 2567
4 ปัจจัยทุบธุรกิจการบิน
ทั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมยังประสบปัญหาใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.แรงงาน ที่ยังขาดแคลนในทุกภูมิภาค 2.เครื่องบิน ที่พร้อมทำการบินมีจำนวนน้อย
เนื่องจากการตรวจสอบและตกแต่งเครื่องบินที่จอดเป็นเวลานานเพื่อให้เครื่องพร้อมนำกลับมาทำการบินนั้นต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณค่อนข้างสูง
3.การซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ยังมีข้อจำกัด และต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงก่อให้เกิดปัญหาคอขวดขึ้น และ 4.ราคาน้ำมันโลกที่ยังคงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ค่าตั๋วโดยสารสายการบินยังสูงต่อเนื่อง
“ภูมิภาคอเมริกาเหนือผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ก่อนภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันสายการบินในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนนักบิน จึงทำให้เกิดการแย่งชิงนักบินมากขึ้น” นายพาทีกล่าว
และว่า ขณะเดียวกันในฟากสนามบินก็เจอปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน ทำให้ภาคธุรกิจการบินภาพรวมฟื้นตัวช้า อีกทั้งการฟื้นตัวทั่วโลกยังไม่เท่าเทียมกัน จากปัญหาการฉีดวัคซีน การผ่อนคลายมาตรการของรัฐบาลต่าง ๆ
ทุกสายการบินมีปัญหา
สำหรับภาพรวมธุรกิจสายการบินในประเทศไทยนั้น นายพาทีกล่าวว่า แต่ละแห่งประสบปัญหาที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ สายการบินไทยแอร์เอเชียประสบปัญหาค่อนข้างสูง เพราะในช่วงโควิดเครื่องบิน 60 ลำจอดหมด ไม่มีเงินเข้า ทำให้การซ่อมบำรุงเครื่องบินมาใช้งานค่อนข้างช้า
ขณะที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ลดขนาดฝูงบินลงไปเป็นจำนวนมาก ฝั่งการบินไทยเองยังอยู่ในการปรับทิศทางการบริหาร รวมถึงอยู่ในช่วงการฟื้นฟูกิจการ ส่วนสายการบินนกแอร์ก็ยังอยู่ระหว่างการหาทิศทางสู่การเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ แต่ยังไม่ชัดเจนนัก
มีเพียงสายการบินไทยเวียตเจ็ทที่ยังคงสถานะได้ดี โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 สายการบินเน้นปฏิบัติการบินเส้นทางต่างประเทศ แต่เมื่อการระบาดเกิดขึ้น จึงหันมาให้ความสนใจกับตลาดในประเทศไทย ปัจจุบันไทยเวียตเจ็ทดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกมากที่สุด (most aggressive) คาดว่าสายการบินต้องการสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศให้มากที่สุด
วอนรัฐสนับสนุนท่องเที่ยว
นายพาทีกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 20-30% ของรายได้รวม แต่กลับพบว่าช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลยังสนับสนุนภาคท่องเที่ยวไม่เต็มที่ และมีทิศทางการดำเนินนโยบายไม่ชัดเจน จึงขอเสนอให้รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว รวมถึงสายการบินมากกว่าปัจจุบัน
นอกจากนี้ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันวางแผนกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของไทยให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากทั้งประเทศไทยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมีจุดยืนในเวทีโลกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกชาติ รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สูง
“รัฐควรสนับสนุนภาคท่องเที่ยวด้านเงินทุน เช่น ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ส่วนธุรกิจสายการบินรัฐบาลสามารถเข้ามาป้องกันการแข่งขันด้านราคา”
จับตารัสเซีย-ตลาดระยะใกล้
นายพาทียังประเมินด้วยว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยอาจจับตาตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย เช่น จอร์เจีย มองโกเลีย อุซเบกิสถาน ให้มากขึ้น ซึ่งอาจมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ต้องการหลีกหนีผลกระทบของสงคราม และมุ่งออกเดินทางไปยังต่างประเทศ
โดยผู้ประกอบการควรจับตากลุ่มนักธุรกิจที่เดินทางไปพร้อมกับการทำงาน (bleisure) รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ทำงานจากทุกที่ (digital nomad) กลุ่มนักท่องเที่ยวพักผ่อนที่มีการจับจ่ายสูง ซึ่งหมายรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางด้วยตนเอง (FIT) และตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศระยะใกล้ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ลาว อินเดีย
ขณะเดียวกัน ตลาดนักท่องเที่ยวตลาดการท่องเที่ยวชิงสุขภาพเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ประเทศไทยยังสื่อสารประเด็นการท่องเที่ยวไม่ชัดเจน
อย่าหวังพึ่งพาตลาดจีน
สำหรับตลาดจีนนั้น นายพาทีกล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดหวังนัก เพราะแม้ว่าจะมีการประท้วงต่อต้านมาตรการทางสาธารณสุขเกิดขึ้น แต่ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศ และเชื่อว่ารัฐบาลจีนยังจับตาการคลายล็อกในฮ่องกง ซึ่งเหมือนเป็นแซนด์บอกซ์ของจีน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องวางแผนรับมือว่าถ้าจีนยังไม่เปิดจะทำอย่างไร
“ก่อนการระบาดของโควิด-19 สายการบินในประเทศไทยพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป แต่ละสายการบินต่างขยายฝูงบินของตัวเองเพื่อรับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากตลาดจีนส่วนหนึ่งยังมีปริมาณการจับจ่ายที่ต่ำ” นายพาทีกล่าว
นายพาทีกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในปี 2566 นี้ ผู้ประกอบการควรลดการโฟกัสตลาดการท่องเที่ยวจีน และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่น ที่สำคัญ ทุกฝ่ายในภาคการท่องเที่ยวต้องร่วมมือวางแผนสื่อสารทางการตลาดประเทศไทยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น