ย้ำ “คนไทย” ออกนอกประเทศ ไม่ (ต้อง) จ่ายภาษี 1,000

คนไทยออกนอกประเทศ
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

เคลียร์ชัดแล้ว แต่ยังไม่จบ ! สำหรับประเด็นคนไทยออกนอกประเทศ ว่าต้องจ่ายภาษี 1,000 บาทหรือไม่ ?

สร้างความตกใจและความเป็นห่วงให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างมากเมื่อเห็นข่าว “กรมสรรพากร” เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526 ระหว่าง 3-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เพราะสาระสำคัญของพระราชกำหนดดังกล่าว กําหนดให้จัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรครั้งละ 1,000 บาท สำหรับการเดินทางทางอากาศ และครั้งละ 500 บาท สำหรับการเดินทางทางบก หรือทางน้ำ

ข่าวนี้ทำเอาคนท่องเที่ยวส่วนหนึ่งนั่งไม่ติด ลุกมาตั้งการ์ดส่งเสียงต่อต้าน เพราะกลัวว่ามาตรการนี้จะทำให้คนไทยไม่ออกเดินทางไปนอกประเทศ ซึ่งสวนทางกับกระแสสังคมในปัจจุบันที่ทั่วโลกส่งเสริมให้คนออกเดินทางหาประสบการณ์ชีวิตและเรียนรู้โลกภายนอก

ขณะที่ “สรรพากร” ก็ได้ออกมาแถลงชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ในการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับพระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรดังกล่าวนี้ เป็นการทำเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายในด้านต่าง ๆ

และเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เท่านั้น พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเตรียมการที่จะจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด

เรียกว่าย้ำชัดเจนว่า “สรรพากร” ไม่ได้จะจัดเก็บภาษีคนที่จะเดินทางออกนอกประเทศแน่ ๆ

แต่ดูเหมือนว่าจนกระทั่งขณะนี้ประเด็นการเก็บภาษีออกนอกประเทศ 1,000 บาทสำหรับคนไทยยังหลอกหลอนคนท่องเที่ยวไม่จบ หลายคนยังคงสะท้อนความเห็นผ่านสื่ออยู่เป็นระยะ ว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีออกนอกประเทศ

พูดตรง ๆ ประเด็นนี้คนท่องเที่ยวขยับตัวสร้างกระแสต่อต้านเร็วเกินไป ไม่ดูรายละเอียด ไม่ประเมินความเป็นไปได้ รวมถึงไม่สอบถาม หรือดูวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการทำ public hearing ของภาครัฐ แต่เลือกตอบโต้ผ่านสื่อแทน

การทำ public hearing ของภาครัฐครั้งนี้จึงถูกขยายประเด็นไปในวงกว้าง และถูกสังคมคนท่องเที่ยวออกมากรนด่าว่ารัฐบาลมีแนวคิดล้าหลัง สวนทางกับโลกในยุคปัจจุบันที่ส่งเสริมให้คนในประเทศของตัวเองออกไปเรียนรู้หาประสบการณ์จากโลกภายนอก

ประเด็นนี้ หากดูรายละเอียดทั้งหมดจะเห็นว่า พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526 เป็นข้อกำหนดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 40 ปีก่อน กระทั่งขณะนี้ก็ยังไม่ถูกนำมาใช้

ถ้ามองมุมนี้เราแทบจะมองไม่เห็นเหตุผลที่รัฐจะปัดฝุ่นพระราชกำหนดนี้มาใช้ ยกเว้นการทำ public hearing เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ไม่ได้ใช้

แต่ตราบใดที่รัฐยังไม่ประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ คนท่องเที่ยวเขาก็คงระแวงต่อไป

เรื่องธรรมดาค่ะ…